นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญ เฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว “อัปเดตการระบาดของสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) และจะมีผลกระทบต่อการได้รับวัคซีนหรือไม่” ณ ห้องประชุม 110 อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการดำเนินงานเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ เพื่อให้ประเทศไทยมีข้อมูลเฝ้าระวังสายพันธุ์ได้ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับประเทศ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า รายงานผลการเฝ้าระวังตั้งแต่เดือน เม.ย.-20 มิ.ย.

พบสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) จำนวน 5,641 ตัวอย่าง
สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) จำนวน 666 ตัวอย่าง
และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จำนวน 38 ตัวอย่าง


“จากการติดตามเด็กนักเรียนใน จ.ยะลา เบื้องต้นพบมีทั้งสายพันธุ์อัลฟ่าและสายพันธุ์เบตา ซึ่งขณะนี้หน่วยงานสาธารณสุขกำลังติดตามหาต้นตอว่าติดมาจากที่ไหน และกำลังเร่งติดตามว่าเชื้อมีการกระจายไปจังหวัดอื่นๆ หรือไม่ สำหรับผลการตรวจเด็กนักเรียนที่จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดตราด ที่กลับมาจากจังหวัดยะลา ผลตรวจไม่พบเชื้อโควิด ซึ่งขณะนี้เด็กอยู่ระหว่างกักตัวเฝ้าระวังต่อไป” นพ.ศุภกิจกล่าว และว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมเฝ้าระวังในพื้นที่แล้ว สำหรับประชาชนขอให้สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันโควิด-19

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษประมาณ 1.4 เท่า จึงไม่แปลกที่สายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) จะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์เดลตาก็จะเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดเกือบทั่วโลก ในอนาคตก็อาจจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น โดยวัฏจักรแล้วจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน

“ส่วนวัคซีนทุกตัวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันพัฒนามาจากสายพันธุ์ดั้งเดิม คือสายพันธุ์อู่ฮั่นทั้งนั้น เมื่อสายพันธุ์เปลี่ยนไปประสิทธิภาพของวัคซีนก็เปลี่ยนไป และเชื่อว่าในอนาคตทุกบริษัทก็จะผลิตวัคซีนให้ทันกับสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลง ดังเช่นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่เราต้องคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงของไวรัสไว้ล่วงหน้า กระบวนการเปลี่ยนแปลงในสายการผลิตต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน สายพันธุ์อัลฟ่า(อังกฤษ)ลดประสิทธิภาพของวัคซีนที่ผลิตมาก่อนไม่มาก และคงยังใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้ดี” ศ.นพ.ยงกล่าว

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า ในขณะนี้ประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า และมีแนวโน้มที่จะเกิดสายพันธุ์เดลตาเข้ามาแทนที่ สิ่งที่เราจะทำได้ก็คงจะต้องช่วยกันควบคุมป้องกันให้เกิดสายพันธุ์เดลตาระบาดในประเทศไทยช้าที่สุด และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการให้วัคซีนในการควบคุมโรคในอนาคตให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดตามทรัพยากรที่เรามีอยู่