"Safeplanet"ตัวแทนศิลปิน-ธุรกิจกลางคืนยื่นหนังสือร้องสมาชิกรัฐสภาเยียวยาธุรกิจกลางคืน เสนอแนวทาง 8 ข้อ ช่วยผู้ประกอบการ

 

วงดนตรี "Safeplanet" ตัวแทนนักดนตรีและศิลปิน ร่วมกับสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง กลุ่มธุรกิจบันเทิง นักดนตรีกลางคืน กลุ่มผู้จัดงานอีเวนต์ศิลปินอิสระ สมาคมคราฟต์เบียร์ และพนักงานผู้ประกอบอาชีพกลางคืน เข้ายื่นหนังสือและข้อเรียกร้องแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง แก่สมาชิกรัฐสภา โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นผู้รับมอบหนังสือ

 

โดยแฟนเพจเฟซบุ๊ก "Safeplanet" เผยแพร่รูปภาพพร้อมข้อความระบุว่า "วันนี้พวกเราเป็นตัวแทนกลุ่มนักดนตรีอิสระร่วมกับพี่ๆสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง ยื่นหนังสือและข้อเรียกร้องแนวทางการช่วยเหลือเยียวยา และได้ร่วมพูดคุย ปรึกษาหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ใจความสำคัญคือ รัฐต้องจัดหาวัคซีนให้กลุ่มธุรกิจกลางคืน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ ‘ถูกลืม’ เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวไม่อยู่ในระบบประกันสังคม รวมถึงเข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐ และในการสั่งปิดระยะยาวต้องมีการเยียวยาที่ตรงจุด ที่ผ่านมาพวกเราพยายามปรับตัวกันตลอด ช่วยเหลือตัวเองเท่าที่ได้ แต่เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนต่อไปได้ ต้องอาศัยทั้งธุรกิจภาคกลางวัน และภาคกลางคืน"

 

สำหรับรายละเอียดจดหมายเปิดผนึกที่ยื่นให้แก่สมาชิกรัฐสภา มีช่วงหนึ่งระบุใจความไว้ว่า เนื่องจากช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ศบค.มีคำสั่งปิดสถานบันเทิงและให้ยกเลิกการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัว รวม จำนวน 3 ครั้ง ขณะที่ผลกระทบจากคำสั่งปิดแบบเหมารวมทั้งภาคธุรกิจเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมานี้ สร้างความเสียหายต่อมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจกว่า 130,000 ล้านบาท จึงยื่นคำร้องพร้อมข้อเสนอมาตรการเยียวยาจำนวน 8 ข้อ ได้แก่ ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม, ปลดล็อกเพื่อให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงกลับมาเปิดบริการได้ภายในวันที่ 1 ก.ค.นี้, ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้, ผ่อนปรนให้มีการจัดงานมหรสพโดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค, พิจารณาการจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และ/หรือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังเรียกร้องให้พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา การพักชำระหนี้ หรือการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือประชาชนในกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าร่วมรับฟัง เสนอแนะ พูดคุยในกระบวนการการออกมาตรการและนโยบายต่างๆ พร้อมเปิดช่องทางสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนที่เดือดร้อน