เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ทดสอบการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้กับอาสาสมัคร ผู้ผ่านการคัดกรองที่มีสุขภาพดีระยะที่ 1 ต่อเนื่องระยะที่ 2 เพื่อดูการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีน ChulaCov19 ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

 

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชน และเงินบริจาคจากสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ กองทุนบริจาควิจัยวัคซีน สภากาชาดไทย ซึ่งวัคซีน ChulaCov19 ได้รับการออกแบบและพัฒนาโดยคนไทย จากการสนับสนุนโดยนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย โดยวัคซีน ChulaCov19 สร้างจากชิ้นส่วนขนาดจิ๋วของสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อ ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป ก็จะสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไว้เตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีนชนิด mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ในไม่กี่วัน mRNA นี้จะสลายไปโดยไม่สะสมในร่างกาย

 

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ประสบผลสำเร็จในการทดลองในลิง และหนู พบว่าสามารถช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จึงนำมาสู่การผลิตและทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 ให้กับอาสาสมัครในวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายนเป็นวันแรก โดยแบ่งเป็น การทดสอบระยะที่ 1 ในคนสองกลุ่มอายุ เพื่อดูประสิทธิภาพวัคซีนว่าดีที่สุดในปริมาณเท่าใด รวมผู้ทดสอบ 72 คน กลุ่มแรก อายุ 18-55 ปี ทดสอบ 36 คน กลุ่มที่สอง อายุ 65-75 ปี ทดสอบ 36 คน เมื่อทราบผล จึงเข้าสู่การทดสอบทางคลินิกระยะที่ 2 ส่วนการทดสอบในระยะที่ 2 จำนวน 150-300 คน คาดว่าเริ่มต้นฉีดได้ประมาณเดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป

 

สำหรับจุดเด่นของวัคซีน ChulaCov19 พบว่าสามารถจัดเก็บได้ง่ายกว่ายี่ห้ออื่น โดยสามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็นที่ 2-8 องศาเซลเซียสได้นาน 3 เดือน เก็บในอุณหภูมิห้องได้นาน 2 สัปดาห์ อีกทั้งพบว่าผลการทดสอบในสัตว์ผ่านเกณฑ์ดีมาก สามารถป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรคและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด ที่สำคัญ ยังสามารถผลิตวัคซีนตัวนี้ได้เร็ว ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่