#ซีรีส์กกกอก กับ 3 ข้อหา เอาผิดลุงพล งานนี้จะออกมาไม้ไหน

 

เข้าใกล้ตอนจบเข้ามาทุกที สำหรับ #ซีรีส์กกกอก หลังศาลจังหวัดมุกดาหารออกหมายจับนายไชย์พล วิภา หรือ ลุงพล ผู้ต้องหาในคดีการเสียชีวิตของ “น้องชมพู่” เลขหมายจับที่ 53/2564 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ใน 3 ข้อหา ได้แก่

 

มาตรา 317 "ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาฯ" ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี และปรับ 60,000-300,000 บาท

 

มาตรา 306 "ผู้ใดทอดทิ้งเด็กอายุยังไม่เกินเก้าปีฯ" ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ป.วิอาญา มาตรา 150 ทวิ "ผู้ใดกระทำการใด ๆ ต่อศพ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนผลชันสูตรเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้ผลการชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไปฯ" ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับ 10,000-40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําโดยทุจริตหรือเพื่ออําพรางคดี ผู้กระทําต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น

 

เมื่อพิจารณาจากความผิดทั้ง 3 ข้อหา กรณีหากศาลสั่งจำคุกลุงพลในอัตราโทษสูงสุดทุกข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 จำคุก 15 ปี มาตรา 306 จำคุก 3 ปี และ ป.วิอาญาฯ มาตรา 150 ระวางโทษเป็น 2 เท่าของโทษที่กำหนด คือ จำคุก 4 ปี ดังนั้นหากรวมโทษที่ลุงพลจะต้องถูกจำคุกทั้งหมด กรณีที่ศาลสั่งลงโทษในอัตราสูงที่สุดโดยไม่รวมโทษปรับ คือ 20 ปี และแม้จะไม่ได้ระบุว่าเป็นการพรากเด็กไปเพื่อการอนาจารหรือไม่ แต่หากพนักงานสอบสวนมีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้ต้องหาได้กระทำอนาจาร ก็จะต้องระวางโทษเพิ่มขึ้นเป็น จำคุก 5-20 ปี

 

หลังทราบข้อหาที่ลุงพลถูกดำเนินคดี หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดจึงไม่มีข้อหาฆ่าผู้อื่น หรือพยายามฆ่า หากลุงพลคือผู้ที่ทำให้น้องชมพู่เสียชีวิต เรื่องนี้คงต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2563 พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้แถลงชี้แจงรายละเอียดของคดีนี้ว่า แม้ร่างของน้องชมพู่จะไม่ได้สวมใส่เสื้อผ้า แต่กลับไม่พบร่องรอยของการกระทำชำเราหรือล่วงละเมิดทางเพศ จึงไม่มีพยานหลักฐานชี้ชัดได้ว่าผู้ก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศน้องชมพู่ ขณะที่สาเหตุการตาย แม้ว่าทั่วร่างของน้องชมพู่จะมีร่องรอยบาดแผลหลายจุด แต่แพทย์ก็ยืนยันว่า ร่องรอยดังกล่าวไม่มีจุดใดที่ทำให้ถึงแก่ความตาย คาดว่าสาเหตุอาจเกิดจากการขาดน้ำและอาหาร เนื่องจากน้องชมพู่ทานอาหารมื้อสุดท้ายคือช่วงเช้าเป็นไข่ต้มเพียง 3 ฟองเท่านั้น และไม่พบอาหารในลำไส้ ส่วนของเหลวในกระเพาะอาหารก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นอาหาร ฉะนั้นจากพยานหลักฐานที่พบและตรวจพิสูจน์ได้ จึงไม่มีหลักฐานใดที่ชี้ชัดได้ว่า ลุงพลกระทำการใดให้เกิดผลโดยตรงจนเป็นเหตุให้น้องชมพู่เสียชีวิต แต่ลุงพลอาจจะเป็นผู้ที่พาน้องชมพู่ขึ้นไปบนภูเหล็กไฟจนน้องชมพู่ขาดอาหารและเสียชีวิต

 

ขณะที่นายเดชา กิตติวิทยานันท์ เจ้าของเพจทนายคลายทุกข์ กล่าวถึงคดีนี้ว่า สำหรับคดีพรากผู้เยาว์ ทำร้ายเด็กจนถึงแก่ความตายสังคมคงไม่ยอมรับ ฉะนั้นหากลุงพลเป็นผู้กระทำผิดจริงก็ขอให้รับสารภาพ เพราะแม้จะมีทนายความเก่งแค่ไหนมาช่วยเหลือ แต่กระทำผิดจริง พยานหลักฐานมัดแน่น ทนายก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ เพราะทนายความต้องว่าความตามหลักฐานภายใต้จรรยาบรรณ พร้อมทิ้งท้าย "หากทำผิดจริง สู้เราติดแน่ ๆ แพ้เราติดนาน ถ้ารับสารภาพติดพอประมาณ"

 

ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ ตำรวจมีอำนาจในการควบคุมตัวลุงพลเป็นเวลา 48 ชั่วโมง จากนั้นจะต้องฝากขังยังศาล โดยคดีมีอัตราโทษสูง พนักงานสอบสวนสามารถยื่นคำร้องฝากขังลุงพลในชั้นสอบสวนได้ 7 ครั้ง ครั้งละ 12 วัน รวม 84 วัน ขณะที่ฝั่งของลุงพลก็สามารถยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวได้เช่นกัน ตามสิทธิของผู้ต้องหา โดยกรณีที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณาตาม ป.วิอาญาฯ มาตรา 108/1 เมื่อมีเหตุอันควรเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งใน 5 ข้อ ได้แก่ ผู้ต้องหาจะหลบหนี, ผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน, ผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น, ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ และการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดําเนินคดีในศาล ซึ่งย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 63 ผ่านมาแล้วกว่า 1 ปี ณ ตอนนั้น ลุงพลให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวน เดินทางเข้าให้ปากคำ รวมถึงการมาสอบปากคำด้วยเครื่องจับเท็จที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี จึงอาจเป็นไปได้ว่า ศาลอาจพิจารณาให้ลุงพลได้ปล่อยชั่วคราว

 

อย่างไรก็ตาม ต้องตรวจสอบคำร้องขอฝากขังลุงพลอีกครั้งว่า พนักงานสอบสวนจะบรรยายพฤติการณ์ของลุงพลไว้ในลักษณะใด เหตุใดจึงคัดค้านการประกันตัว และสุดท้ายลุงพลจะได้ประกันตัวหรือไม่ ฉะนั้นการออกหมายจับและเข้าจับกุมลุงพลในวันนี้ จึงอาจยังไม่ใช่จุดจบของ #ซีรีส์กกกอก แต่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรม!