ซ่อมฝาบ่อพัก ทั่วทุกเขต เน้นจุดเสี่ยงพื้นที่ต่ำ เป็นแอ่งกระทะ

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตจึงเร่งขุดลอกและซ่อมฝาบ่อพักท่อระบายน้ำในจุดต่าง ๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วม เช่น ถ.รามคำแหง ช่วงซอยรามคำแหง 34, ถ.ประชาอุทิศ เขตห้วยขวาง, ถ.สุขุมวิท ช่วงซอยสุขุมวิท 40

นายศุภมิตร ลานทอง ผู้อำนวยการกองระบบระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ กทม. เปิดเผยกับ #ทีมข่าวออนไลน์ช่อง8 ว่า ได้ดำเนินการขุดลอกท่อระบายน้ำเป็นประจำทุกวันและเร่งรัดเพิ่มความถี่มากขึ้นในพื้นที่จุดเสี่ยงเกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งมีสาเหตุหลักจากขยะ ตะกอนดิน และเศษวัสดุก่อสร้าง จนถูกน้ำชะล้างลงท่อระบายน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนที่มีการอาศัยหนาแน่น รวมถึงตลาดสดต่าง ๆ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ

“ปัจจุบันไม่สามารถขยายขนาดท่อระบายน้ำเดิมได้แล้ว เพราะนำไปใช้ประโยชน์จำนวนมากและมีระบบสาธารณูปโภคหนาแน่น ประกอบกับท่อระบายน้ำเดิมมีขนาด 60 ซม.-1 ม. ทำให้ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำจากอาคารสูงที่ได้รับการพัฒนา ดังนั้นจึงต้องสร้างรางระบายน้ำริมทางเท้าในพื้นที่จุดเสี่ยงต่าง ๆ สำหรับรองรับน้ำฝน และนำน้ำฝนบนผิวจราจรไปยังบ่อสูบน้ำต่าง ๆ โดยไม่ผ่านท่อระบายน้ำ”

ทั้งนี้ ปัจจุบันท่อระบายน้ำใน กทม.มีความยาว 6,100 กม. อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำ 2,050 กม. และสำนักงานเขต 4,050 กม. ขณะที่จุดเสี่ยงมีทั้งสิ้น 70 จุดเสี่ยงน้ำ ประกอบด้วย 56 จุดเสี่ยงน้ำท่วมทันที หากมีปริมาณน้ำฝนเกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง เช่น ถนนพระราม 3 ช่วงตลาดฮ่องกงปีนัง-แยก ณ ระนอง, ถนนงามวงศ์วาน ช่วงแยกเกษตร, ถนนรัชดาภิเษก แยกพระราม 9-แยกห้วยขวาง, ถนนรามคำแหง ช่วงมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ 14 จุดเสี่ยงน้ำท่วม กรณีปริมาณน้ำฝนไม่เกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง เช่นถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปา-คลองเปรมประชากร, ถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ และ ถนนพหลโยธิน บริเวณหน้าตลาดอมรพันธ์และแยกเกษตร