เฝ้าระวังคลัสเตอร์ใหม่ แคมป์คนงานกลางกรุง

วันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) กล่าวว่า

สำหรับการค้นหาเชิงรุกในเรือนจำกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยอดรวม 3,895 ราย ส่วนคนที่เดินเข้ามาตรวจในโรงพยาบาล (รพ.) ยังไม่ลดลง พบว่ามาจากชุมชนคลองเตย หลักสี่ สีลม สี่แยกมหานาค ปากคลองตลาด แฟลตดินแดง พื้นที่บางแค ห้างสรรพสินค้า ชุมชนใกล้เคียง และซอยเพชรบุรี 5, 6

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลามโหม มอบหมายให้ 50 เขตไปดูพื้นที่ พบว่า การแบ่งตามความชุกต่อพันคน เขตต่างๆ มีความเข้มข้นต่างกันไป ส่วนใหญ่กระจุกตัวใน กทม.ชั้นใน ทั้งปทุมวัน คลองเตย ห้วยขวาง ป้อมปราบศัตรูพ่าย ดุสิต ดินแดง ราชเทวี วัฒนา การกระจุกตัวของคนก็มาก ทั้งเชิงพักอาศัยและการประกอบการ แออัดกันอยู่ตรงนี้

“โดยสรุปเขตที่มีปัญหามีทั้งหมด 17 เขต 27 คลัสเตอร์ ได้แก่ ดินแดง วัฒนา คลองเตย หลักสี่ ลาดพร้าว ราชเทวี พระนคร ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย สวนหลวง ปทุมวัน สาทร สัมพันธวงศ์ จตุจักร สีลม ประเวศ และวังทองหลาง กำลังสอบสวนควบคุมโรคหรือการระบาดยังมีอยู่ 20 คลัสเตอร์ และปิดคลัสเตอร์ได้แล้ว 7 คลัสเตอร์ จึงต้องแจ้งข้อมูลให้ประชาชนทั้ง 17 เขตทราบ ขอให้ร่วมมือกับเขตในการควบคุมโรค” 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีการประเมินว่าเขตที่มีการระบาดมากและเพิ่มขึ้นเร็วคือ ป้อมปราบศัตรูพ่าย ดุสิต ปทุมวัน ราชเทวี คลองเตย ลาดพร้าว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม

1.คลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุดต้องเจาะไปที่ “แคมป์ก่อสร้างที่หลักสี่” ติดเชื้อถึง 21.99% ทั้งความแออัด ความหลากหลายเชื้อชาติ อาจเป็นแหล่งระบาดกลุ่มก้อนใหญ่

โดยท่านรองปลัด กทม.รายงานว่า ข้อมูลล่าสุดปลายปี’63 มีคนงานในแคมป์ก่อสร้างประมาณ 60,000 คน จาก 393 แคมป์ที่กระจายใน 50 เขต กทม. เป็นคนไทย 24,612 คน และต่างชาติ 34,600 คน เมื่อเจอการติดเชื้อ ถ้าเป็นต่างชาติก็ดึงออกมา อย่างที่ จ.สมุทรสาคร ก็มีพื้นที่หนึ่งก็ช่วยรับไปด้วย เพราะมีล่ามพูดภาษาเดียวกับเขา ต้องหาพื้นที่เฉพาะให้ได้อยู่

2.คลัสเตอร์ที่เฝ้าระวัง มีแคมป์ก่อสร้างที่เขตวัฒนา เจอ 14.25%

3.คลัสเตอร์ที่พบใหม่ คือ

  • ราชเทวี ชุมชนริมคลองสามเสน แฟลตรถไฟมักกะสัน
  • เขตประเวศ ตลาดบุญเรือง
  • เขตบางรัก สีลม

4.เขตทวีวัฒนา ชุมชนแออัด พบ 15.23% 

5.เขตสวนหลวง ร้านเฟอร์นิเจอร์

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ทาง กทม.ส่งผลของจุดตรวจ 6 แห่ง ตรวจ 6,693 ราย พบติดเชื้อ 285 ราย คิดเป็น 4.26% ในที่ประชุมจึงมอบให้ กทม.แจ้งไปยังสำนักงานเขตทุกแห่งรายงานผู้ที่อยู่ในแคมป์คนงานมีกลุ่มเสี่ยงต้องรายงาน กทม.เข้ามายังศูนย์บูรณาการฯ และแจ้งผู้ประกอบการและแรงงานที่มีเกือบ 60,000 คน เข้มงวดกวดขันดูแลคน ความเป็นอยู่ สถานที่ โครงสร้าง พฤติกรรมส่วนตัว อย่างที่คับแคบ ดื่มกินนอนในที่จำกัด การกระจายเชื้อเกิดขึ้น การไม่ระวังสุขอนามัยส่วนตัว

“คำแนะนำป้องกันโควิด-19 ในที่ก่อสร้าง ซึ่งกรมควบคุมโรคและ กทม.รับทราบไปกำกับอย่างดี มาตรการต้องขึงให้ตึงเข้มงวดเต็มที่ ขอความร่วมมือ 60,000 กว่าคน โดยประมาณการต้องได้รับการดูแลอย่างดี มิเช่นนั้นการแพร่เชื้อจะแพร่ออกไป ขอผู้ดูแลคนในปกครองของท่าน แคมป์คนงานทั้งหลาย ช่วยสอดส่องดูแลและป้องกันเชื้อได้ดียิ่งขึ้น” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า โดย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานที่ปรึกษาของ ศบค. เสนอให้มีศูนย์ข้อมูลบริหารจัดการเรื่องเตียง น่าจะต้องเป็นศูนย์เอราวัณของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นวันสต๊อปเซอร์วิส (One Stop Service) จุดเดียว ทำหน้าที่คือ 1.รับ 2.มีศูนย์คัดแยก คัดกรอง (Triage) ผู้ป่วยสีเขียวเหลืองแดง คิดว่ามี 3 เซ็นเตอร์ที่น่าจะทำได้คือ ศูนย์รับส่งต่อนิมิบุตร รพ.สนามบางขุนเทียน และ รพ.บุษราคัม จะต้องมีรองปลัด กทม. 1 คนกำกับดูแล คือ พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม. เพื่อดึงเอาคนที่พบว่าป่วยรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด สำคัญคือเอกซเรย์ตรงนั้น ตอนนี้เทคโนโลยีไม่ต้องให้หมออ่าน ส่งฟิล์มเข้า AI อ่านโดยเครื่องเลยว่าคนนี้ปอดอักเสบ เยอะแล้วต้องได้รับยาแล้วแยกออกมาทันที นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด