วันที่ 9 พ.ค.2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า การศึกษาภูมิต้านทานที่เกิดจากการฉีดวัคซีนในประเทศไทย เมื่อฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มแล้วเป็นระยะเวลา 1 เดือน กับการตรวจภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีน AstraZeneca 1 เข็มเป็นเวลา 1 เดือน เปรียบเทียบกับการตรวจภูมิต้านทานในผู้ที่หายจากการติดเชื้อโรค COVID-19 ในช่วงระยะเวลา 4 ถึง 8 สัปดาห์หลังจากที่มีการติดเชื้อ

ทั้งนี้ พบว่า ระดับภูมิต้านทานของวัคซีน Sinovac เมื่อฉีดครบแล้ว 2 ครั้ง มีค่าระดับภูมิต้านทานเฉลี่ย 85.9 unit/ml ส่วนภูมิต้านทานหลังฉีด AstraZeneca เพียงเข็มเดียวมีค่าเฉลี่ย 47.5 เมื่อเทียบกับภูมิต้านทานหลังติดเชื้อ 60.9 unit/ml และยังแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนส่วนใหญ่จะตรวจพบภูมิต้านทานได้ร้อยละ 98-99 ในขณะที่ผู้ติดเชื้อตรวจพบภูมิต้านทานได้ร้อยละ 92.4

จากข้อมูลนี้ไม่ได้บอกประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ได้มากน้อยแค่ไหน แต่ที่รู้แน่ว่าถึงแม้ว่าจะเป็นโรคแล้ว ระดับภูมิต้านทานก็ยังแตกต่างกันมากและบางคนก็ตรวจไม่พบ แสดงให้เห็นว่าโรคนี้มีโอกาสเป็นแล้วเป็นอีกได้ ทำนองเดียวกันการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน ยังไม่ทราบว่าจะต้องใช้ระดับภูมิต้านทานเท่าใด จึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ แต่ที่รู้แน่ๆก็คือว่าถ้าเรามีภูมิต้านทาน ก็จะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้
 
การศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนโดยทั่วไปจะทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ให้วัคซีนกับกลุ่มที่ให้วัคซีนหลอกหรือไม่ได้ให้วัคซีน แล้วติดตามไปดูว่ากลุ่มไหนจะมีการเกิดโรค covid-19 มากน้อยแค่ไหนแล้วจึงนำมาเปรียบเทียบเป็นประสิทธิภาพที่ออกมาเป็นรูปเปอร์เซ็นต์
ระดับภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นนี้ก็แสดงให้เห็นว่าวัคซีนทั้งสองชนิดที่ฉีดในประเทศไทย กระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานได้ดีในประชากรไทย ทั้งวัคซีน Sinovac และ AstraZeneca
 
ระดับภูมิต้านทานจะอยู่ไปได้นานแค่ไหน ขณะนี้กำลังติดตามระยะยาว โดยเฉพาะถ้าภูมิต้านทานลดลงมาก ก็อาจจะต้องมีการกระตุ้นด้วยวัคซีนให้ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้สูงอยู่ตลอดเวลา เพราะโรคโควิด 19 มีระยะฟักตัวสั้น จึงต้องอาศัยภูมิต้านทานที่สูงอยู่ตลอดรายการป้องกันการติดเชื้อ