หมอยงแจง ประสิทธิภาพของวัคซีนเอามาเทียบกันไม่ได้ เพราะศึกษาคนละเวลา-สถานที่ โปรดมั่นใจวัคซีนโควิดไทยนำเข้า

นายแพทย์ยง ภู่วรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้เพราะไม่ได้ทดลองพร้อมกันในสถานที่เดียวกัน

โดยตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะไม่ได้ทดลองหรือศึกษาพร้อมกันในสถานที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน จึงไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆมากมาย เช่น


1/ ความชุกของโรคในขณะทำการศึกษา ถ้าความชุกของโรคสูงตัวเลขประสิทธิภาพจะต่ำกว่า ดังนั้นจะเห็นได้ว่าวัคซีน Pfizer ขณะทำการทดลองถึงประสิทธิภาพมีอุบัติการณ์ของโรคในประชากรต่ำกว่าวัคซีน Johnson and Johnson ในขณะที่ทำการทดลองในอเมริกาซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดสูงสุด จึงมองดูตัวเลขแล้ววัคซีนของ Pfizer จึงมีประสิทธิภาพสูงกว่าวัคซีน Johnson and Johnson เพราะเป็นการนับจำนวนผู้ป่วยที่เกิดขึ้นในช่วงการศึกษา


2/ ประชากรที่ใช้ในการศึกษา ถ้าใช้ประชากรกลุ่มเสี่ยงสูงจะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าการศึกษาในประชากรกลุ่มเสี่ยงต่ำกว่า เพราะวัคซีนส่วนใหญ่จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อแต่ป้องกันความรุนแรงของโรคเช่น วัคซีน Sinovac ที่ทำการศึกษาที่บราซิล ใช้กลุ่มเสี่ยงสูงคือบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้ประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนเดียวกันที่ทำการศึกษาในประชากรทั่วไปที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า ในตุรกีได้ตัวเลขประสิทธิภาพที่สูงกว่าการศึกษาในบราซิลมาก


3/ การนับความรุนแรงของโรคก็มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างยิ่ง วัคซีนของจีน Sinovac ทำการศึกษาในบราซิล ตัวเลขประสิทธิภาพนับจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการน้อยมากเข้าไปด้วยหรือระดับความรุนแรงที่เรียกว่า WHO Grade 2 คือติดเชื้อมีอาการ

แต่ไม่ต้องการการดูแลรักษา (No Need Medical Attention) ซึ่งตรงข้ามกับวัคซีนอีกหลายตัว ไม่มีการกล่าวถึงความรุนแรงของโรคที่ชัดเจน ส่วนใหญ่มักจะเป็นความรุนแรงระดับ WHO Grade 3 คือป่วยเป็นแบบผู้ป่วยนอกไม่ต้องการนอนโรงพยาบาล แต่ต้องพบแพทย์ (Need Medical Attention) ถ้ายิ่งนับความรุนแรงที่น้อยมากๆจะมีตัวเลขประสิทธิภาพต่ำ และถ้านับความรุนแรงตั้งแต่ Grade 4 คือป่วยต้องเข้านอนโรงพยาบาลประสิทธิภาพจะยิ่งสูงมาก และถ้ายิ่งความรุนแรงที่สูงไปอีกถึง Grade 7 คือเสียชีวิต ประสิทธิภาพจะใกล้ 100% ของวัคซีนเกือบทุกชนิด


4/ สายพันธุ์ของไวรัส การศึกษาของ Pfizer และ Moderna ทำก่อน Johnson and Johnson การทำทีหลังจะเจอสายพันธุ์ของไวรัสที่กลายพันธุ์หลบหลีกวัคซีน ทำให้ภาพรวมของวัคซีนที่ทำก่อนมีประสิทธิภาพดีและไม่ทราบประสิทธิภาพต่อไวรัสที่กลายพันธุ์ วัคซีนของ Johnson and Johnson เห็นได้ชัดเจน การกลายพันธุ์ของไวรัสมีส่วนที่ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง

การทำการศึกษาคนละเวลาจึงเป็นการยากที่จะมาเปรียบเทียบตัวเลขกัน ถึงแม้ว่าจะทำในประเทศเดียวกันเพราะไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในการหลบหลีกประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่แล้ว วัคซีนของอินเดียทำการศึกษาที่หลังสุดและศึกษาในสายพันธุ์อินเดียก็ไม่สามารถที่จะไปเปรียบเทียบกับวัคซีนที่ทำการศึกษาในอเมริกาใต้ ข้อมูลล่าสุดก็เห็นได้ชัดว่าวัคซีน Pfizer มีประสิทธิภาพลดลงประมาณ 20% ต่อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และถ้ามาเจอสายพันธุ์อินเดียก็อย่างที่มีข่าวฉีดวัคซีน Pfizer มาแล้ว 2 เข็มก็มาติดเชื้อในอินเดีย เสียชีวิตในเวลาต่อมา


ดังนั้นในทางปฏิบัติในการดูวัคซีน เราจะต้องศึกษาข้อมูลทั้งหมด แต่บางครั้งเราก็ไม่ได้ข้อมูลทั้งหมด เราจึงไม่อยากเห็นการใช้ตัวเลขที่ทำการศึกษาต่างระยะเวลากัน ต่างสถานที่กัน มาเปรียบเทียบกันว่าวัคซีนใครดีกว่าใคร


อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการวัดระดับภูมิต้านทานวัคซีนในกลุ่ม mRNA จะมีภูมิต้านทานสูงกว่าวัคซีนอื่นทั้งหมด สำหรับประเทศไทยเราต้องการวัคซีนทุกตัวที่สามารถจะนำเข้ามาได้และให้มีการใช้อย่างเร็วที่สุด #หมอยง


ขอบคุณ นพ.ยง ภู่วรวรรณ