กรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรมแจงสิทธิผู้สื่อข่าวช่อง 8 มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญา จากเหตุสลายการชุมนุม 20 มีนาคมได้

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มอบหมายให้ นายวันฉัตร วณิชพันธุ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายพัสกร เพชรในหิน ผู้อำนวยการกองมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน ลงพื้นที่ติดตามให้ความช่วยเหลือ นางสาวพนิตนาฏ พรหมบังเกิด ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ที่ได้รับผลกระทบ เข้าข่ายเป็นผู้เสียหายทางคดีอาญา เหตุถูกกระสุนยางจากการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบรายอื่นไปจากเหตุการณ์

ทั้งนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายตามแนวทางยุติธรรมสร้างสุข ยุติธรรมเชิงรุก สร้างสุขให้ประชาชน พร้อมแจ้งสิทธิและรับคำขอค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 รวมทั้งให้คำแนะนำการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการเรียกค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาการฟ้องคดีแพ่งและการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม

นายวันฉัตร เปิดเผยว่า ประเด็นการเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาเป็นสิ่งที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนในประเทศล้วนมีสิทธิเข้าถึงอย่างเท่าเทียม โดยได้กำชับให้กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ รวมถึงหน่วยงานต่างของกระทรวงยุติธรรม นั้นทำงานเชิงรุกเข้าถึงบริการประชาชนอย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะกรณีของผู้สื่อข่าวที่ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีความเป็นห่วง เพราะทราบดีว่าผู้สื่อข่าวนั้นอยู่ในความเสี่ยงการออกไปทำงานภาคสนามขณะปะทะผู้สื่อข่าวทุกสำนักทั้งไทยและต่างประเทศถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด จึงอยากแจ้งให้สื่อมวลชนเข้าใจว่าตัวเองมีสิทธิเยียวยา

เบื้องต้นหากได้รับการบาดเจ็บเมื่อปฏิบัติหน้าที่ ในส่วนของ ค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสรรถภาพทางร่างกายจิตใจ ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เป็นต้น แต่การพิจารณานั้นต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และดุลยพินิจของกรรมการตรวจสอบ