รัฐบาล จ่อเสนอแก้กฎหมาย ลาคลอดจ่ายค่าจ้าง 98 วัน จากเดิมที่จ่าย 90 วัน

(18 มี.ค. 2564) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและการละเมิดทางเพศ นับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญและติดตามอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นเรื่องที่ต้องประสานการทำงานกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

โดยแนวทางหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีได้ผลักดันและสอดรับกับข้อเสนอของกลุ่มเครือข่ายสตรี คือการเพิ่มจำนวนพนักงานสอบสวนหญิงเพื่อทำหน้าที่สอบสวน และดูแลเด็ก สตรี ให้ได้รับการบริการที่เท่าเทียม รวมถึงได้รับความช่วยเหลืออย่างเข้าใจระหว่างผู้หญิงถึงผู้หญิง ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ให้เพิ่มจำนวนพนักงานสอบสวนหญิงเพื่อบริการประชาชน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะรับเพิ่มอีก 100 คน เร็ว ๆ นี้ คุณวุฒินิติศาสตร์บัณฑิต เพื่อทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนตามสถานีตำรวจภูธร (สภ.) และสถานีตำรวจนครบาล (สน.) จากที่มีอยู่ปัจจุบัน 733 คน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ติดตามเรื่องการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 67 เรื่องการหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร ที่ปัจจุบันเป็นการเหมาจ่ายในอัตราครั้งละ 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างตามมาตรา 57 เป็นเวลา 90 วัน ให้เป็น 98 วัน ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิลาคลอดที่กำหนดใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า ได้ยกร่างแก้ไขเป็น 98 วันแล้ว แต่เนื่องจากยังมีประเด็นอื่นอีกที่ต้องปรับแก้ใน พ.ร.บ. ด้วยเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากขึ้น จึงมีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาอีกสักระยะ และจะรีบเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในทันทีเมื่อทุกอย่างเรียบร้อย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณเครือข่ายสตรีที่ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียง สะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับทราบมาตลอด และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดพื้นที่ให้เกิดการทำงานร่วมกัน