ครม. ชะลอ! ขยายอายุราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี ชี้ ให้ผ่านวิกฤตโควิด-19 ค่อยนำกลับมาพิจารณาใหม่

(2 ก.พ. 2564) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 ทำให้มีสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ภายในปี 2573

ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องมีแผนรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งในส่วนของข้าราชการพลเรือน ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ที่เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารบุคลากรภาครัฐ ได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการขยายอายุเกษียณราชการ ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคมมาระยะหนึ่งแล้ว โดยได้กำหนดสาระสำคัญในแผนปฏิรูป ว่าให้ควรมีการศึกษาการขยายอายุการเกษียณราชการเป็นมาตรการเพื่อรองรับสังคมสูงวัย และสนับสนุนให้บุคลากรภาครัฐมีงานทำหลังเกษียณ รวมถึงการบริหารกำลังคนภาครัฐในช่วงวัยต่างๆ อย่างเหมาะสม

โดยมีข้อเสนอหนึ่งแนวทางคือ น่าจะขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สำนักงาน กพ. ได้รับรายงานและข้อเสนอแนะจากคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสของวุฒิสภา ที่มีการเสนอเรื่องการจ้างงานข้าราชการภายหลังเกษียณอายุ 60 ปี

เพราะฉะนั้นจากข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนี้ของวุฒติสภา เมื่อสำนักงาน กพ. ได้รับข้อเสนอแล้ว ก็นำมาพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่ง ครม. ได้ทำการพิจารณาและมีข้อสรุปดังนี้

1.เห็นด้วยกับการชะลอการขยายเกษียณอายุราชการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงระบบการคลังและงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งเห็นว่าควรจ่ายงบประมาณที่มีจำกัดเพื่อให้เกิดการจ้างงานกับกลุ่มเปราะบางก่อนเป็นอันดับแรก และเมื่อสามารถจัดการกับสถานการณ์โควิด-19 ได้แล้ว ค่อยนำเรื่องนี้มาพิจารณาใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป

2.เห็นด้วยกับการจ้างเพื่อใช้ศักยภาพข้าราชการเกษียณ ที่เสนอให้มีทางเลือกที่หลากหลายในการจ้างงานที่เกษียณอายุราชการ ควบคู่ไปกับมาตรการการขยายอายุเกษียณ ทั้งนี้ต้องพิจารณาตามความจำเป็นและบุคลากรในแต่ละตำแหน่ง สาขา เช่น ตำแหน่งที่กำลังขาดแคลนกำลังคน ตำแหน่งที่มีความเชี่ยวชาญ หรือให้พิจารณาในรูปแบบอื่น เช่น จ้างข้าราชการเกษียณในกรณีจ้างเหมาบริการหรือการรับงานไปทำที่บ้าน

3.การศึกษาเพื่อปฏิรูปบำเหน็จบำนาญของข้าราชการส่วนท้องถิ่น

ด้านนายกรัฐมนตรี ได้กำชับว่า ความสำคัญของการบริหารบุคลากรภาครัฐจะต้องมองในภาพรวม ซึ่งต้องพิจารณาในเรื่องของการลดกำลังคน การส่งเสริมบุคลากรคนรุ่นใหม่ การจ้างงานข้าราชการเกษียณที่มีศักยภาพในตำแหน่งที่ขาดแคลน และการเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัย โดยย้ำว่าให้ดูครบทุกมิติ