ชาวประมงพื้นบ้านเจอ "ปลาเสือทะเล" ติดอวนมากขึ้น บอกพิษร้ายแรงไม่ต่างจากงูเห่า เตือนนักตกปลา และนักท่องเที่ยว ต้องระวังให้ดี

ชาวประมงพื้นบ้าน บ้านปากคลองตากวน หาดสุชาดา จังหวัดระยอง พบ "ปลาเสือทะเล"มีพิษร้ายแรง ไม่ต่างจากงูเห่า ติดอวนมา จึงออกมาเตือนภัยนักท่องเที่ยวและนักตกปลาให้ระมัดระวัง เพราะพิษของปลาเสือทะเล จะมาจากหนามแหลมคมตามลำตัวของปลา เมื่อถูกทิ่มตำตามร่างกาย พิษจะวิ่งเข้าสู่เส้นเลือด ทำให้ปวดตามกล้ามเนื้อ ต้องหามส่งโรงพยาบาลในทันทีเกือบทุกราย

นายโฉบ รอดพ้น อายุ 60 ปี ชาวประมงพื้นบ้านบอกว่า ปกติปลาเสือทะเลจะติดอวนมาไม่บ่อยนัก แต่ช่วงนี้พบว่า ติดอวนมาจำนวนมากขึ้น หวั่นจะมีนักท่องเที่ยวและนักตกปลาไปจับ และอาจถูกแทงโดยไม่รู้พิษสงที่แท้จริง

ขณะที่ชาวประมงเอง ยังหวาดกลัวกับพิษของปลาเสือทะเล หากพลาดท่าไปแกะอวน แล้วไปถูกหนามแหลมทิ่มเข้าให้ ก็จะมีอาการปวดอย่างทรมาน ต้องรีบไปส่งโรงพยาบาลทันที

ทั้งนี้ ปลาเสือทะเล หากินอยู่ตามพื้นทราย และซอกหินใต้ทะเลในระดับความลึกประมาณ 5-6 เมตร นานๆครั้งจะโผล่ให้เห็นตามชายหาดและหากเปรียบเทียบกับพิษจากหนามแหลมของหางปลากระเบน ถือว่า พิษของปลาเสือทะเลมีความรุนแรงมากกว่า จึงขอให้ทุกคนระมัดระวังกันด้วย

ด้านนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุปลาดังกล่าวคือปลาอินเดียนวอร์คแมน เป็นปลาในกลุ่มปลาหิน ปลาสิงโต และปลากะรังหัวโขน

ปลาพวกนี้ มีพิษอยู่ในเนื้อเยื่อหนังหุ้มก้านครีบ เมื่อหนังฉีกขาดเพราะคนไปโดน พิษก็จะซึมเข้าบาดแผลผู้ไปโดน ทำให้ปวดมาก และพิษจะเพิ่มขึ้นตามขนาดตัวปลา แต่ยังไม่เคยมีรายงานว่า ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต

พิษพวกนี้เป็นพิษแบบโปรตีนสลายด้วยความร้อน การรักษาในอดีตจะใช้การอังไฟ หรือใช้พลับพลึงประคบ แต่ต้องร้อนจัด ปัจจุบันจะใช้การแช่น้ำอุ่นจัดหรือ ใช้ไดร์เป่าให้พิษสลาย แต่ต้องใช้ความร้อนระดับหนึ่ง ทางที่ดีควรรีบพบแพทย์

อาจารย์ธรณ์ ยังระบุว่า ปลาอินเดียนวอร์คแมน พบได้ทั้งทะเลอันดามันและอ่าวไทย โดยจุดที่ชาวประมงไปพบ อาจเป็นแหล่งอาศัยพอดี จึงดูเหมือนว่า มีจำนวนมากกว่าปกติ ไม่เกี่ยวกับการสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง หรือมีอะไรผิดปกติ

แต่โอกาสที่นักท่องเที่ยวทั่วไปที่ไม่ใช่นักดำน้ำ จะพบมีไม่มากนัก เพราะอาศัยอยู่บริเวณโขดหินน้ำลึก 5-6 เมตร ปลาชนิดนี้ เป็นเป้าหมายของนักดำน้ำ เพราะมีความน่ารักใช้ก้านครีบเดินได้