กรมปศุสัตว์เตือนเกษตรกรกรอย่าหลงเชื่อใช้วัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรซึ่งมีการลักลอบนำเข้าประเทศจำนวนมาก ขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้ผลิตขาย และใช้ในไทย อาจเกิดผลข้างเคียงทำให้สุกรติดเชื้อ เกิดการระบาดรุนแรงและอาจพบการกลายพันธุ์ของโรคจนเสียหายร้ายแรงได้ ส่วนผู้ผลิต นำเข้า และขายมีความผิดตามกฎหมาย

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์เปิดผยว่า ตามที่มีการพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF) ในสุกรทั่วโลก รวมทั้งในประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทย ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

รวมทั้งกระทบความมั่นคงด้านอาหารของประเทศที่พบการระบาด ในปัจจุบันยังยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันและยาที่ใช้ในการรักษา จึงมีผู้ฉวยโอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าวผลิตวัคซีนที่กระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเป็นสาเหตุให้มีการระบาดของโรคออกไปอย่างกว้างขวางและเชื้อเกิดการกลายพันธุ์

ล่าสุด ฟาร์มเอกชนในต่างประเทศ พบเชื้ออหิวาต์สุกรแอฟริกันสายพันธุ์ใหม่ 2 สายพันธุ์ โดยแยกได้จากสุกรป่วยที่แสดงอาการของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร การพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ เกิดเนื่องจากเกษตรกรได้แอบใช้วัคซีนเชื้อเป็นที่ยังไม่อนุญาตให้ใช้ โดยเกษตรกรคาดหวังผลว่า จะสามารถป้องกันโรคนี้ได้

แต่ผลกลับพบว่า สุกรที่ฉีดวัคซีนชนิดนี้ มีภาวะป่วยโทรม และแสดงอาการของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรตามมา ทำให้ยากต่อการควบคุมเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ และอาจแพร่ระบาดไปทั่วโลกได้ โดยผ่านเนื้อหมูที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสดังกล่าว หรือจากการแอบลักลอบนำเข้าวัคซีนเชื้อเป็นดังกล่าว

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยยังไม่มีการอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ขาย และใช้ วัคซีนเพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร โดยการผลิต นำเข้า ขาย ยาและวัคซีน ซึ่งไม่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความผิดตาม พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510

จึงขอแจ้งเตือน มายังเกษตรกรอย่าหลงเชื่อ นำวัคซีนที่ผิดกฎหมายมาใช้ในฟาร์ม โรค ASF ไม่สามารถติดต่อหรือมีอันตรายต่อมนุษย์ แต่เป็นโรคติดต่อรุนแรงเฉพาะสุกรเท่านั้น

หากพบเห็นการลักลอบใช้วัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือพบเห็นการลักลอบจำหน่ายวัคซีนดังกล่าว รวมทั้งพบสุกรภายในฟาร์มป่วยตายผิดปกติ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอทั่วประเทศ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือ application DLD 4.0 หรือ สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง