ชาวบ้านที่ราชบุรี ขอให้กรมศิลปากรเข้าตรวจสอบ พระพุทธรูปทองคำแท้ อายุเก่าแก่กว่า 200 ปี ที่ถูกชาวบ้านใช้ปูนโบกทับไว้ เบื้องต้นทางวัดจะขอขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุโบราณ

เมื่อวานนี้ (16 ธ.ค.) ไวยาวัชยากร วัดจอมปราสาท และพระลูกวัด พาเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี เข้าไปดูพระพุทธรูปเก่าแก่ เนื้อสีดำ อายุ 247 ปี ลงลักษณ์ปิดทอง ความสูงประมาณ 32 นิ้ว หน้าตักประมาณ 24 นิ้ว แต่เนื้อในเป็นทองคำแท้ สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนถึง กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

โดยมีเรื่องเล่าว่า ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทำสงครามกับพม่า ที่ค่ายบางแก้ว เมืองราชบุรี ปี พ.ศ.2317 ชาวบ้านได้นำปูนมาโบกทับพระทองคำองค์นี้ เพื่อตบตาทัพพม่า ก่อนนำข้ามแม่น้ำมาไว้ที่วัดจอมปราสาท อำเภอโพธาราม และในสมัยก่อน พระองค์นี้ ก็ถูกชาวบ้านหยิบยืมไปใช้ทำพิธีทางศาสนา

กระทั่ง ถูกนำมาตั้งกลางแจ้ง ในพิธีกรรมขอฝน ตากแดด ตากฝน นานหลายวัน จนมีคนมาอุ้มกลับมาไว้ที่วัด ระหว่างทาง พระเกิดหล่นลงพื้น ทำให้ปูนที่หุ้มแขนซ้ายกระเทาะ เห็นเป็นพระทองคำทั้งองค์ จึงถูกนำมาเก็บรักษาไว้อย่างดี

ชาวบ้านเล่าว่า เดิมไม่รู้ว่า เป็นพระพุทธรูปทองคำ จนเกิดอุบัติเหตุ ทำให้พระพุทธรูปตกกระแทกพื้น จนเนื้อข้างนอกกระเทาะออก เห็นเนื้อที่แท้จริงข้างใน เป็นทองคำ จึงเรียกกันว่า พระองค์บาก เหมือนกับที่เคยดูในภาพยนต์มื่อหลายปีก่อน

อดีตเจ้าอาวาสจึงให้ช่างมาตรวจสอบ และเก็บรักษาไว้ในกุฏิ โดยให้ทำกรงเหล็กครอบเอาไว้ เพื่อป้องกันการโจรกรรม มาจนถึงปัจจุบัน และเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธปราสาททองจอมมุนีนาถ หรือ หลวงปู่ทอง”

ด้านนายชนกฤษ์ ไชจันทร์ ไวยาวัชยากรและกรรมการ กล่าวว่า ทางกรรมการวัดได้ปรึกษากับทางเจ้าอาวาสวัดจอมปราสาทรูปปัจจุบันแล้ว เบื้องต้น ทางวัดจะทำการขึ้นทะเบียนพระพุทธรูปทองคำ เพื่อจะรักษาและป้องกันเอาไว้ และทางวัดจะให้ทางกรมศิลปากรได้ตรวจพิสูจน์ว่า พระทองคำดังกล่าว มีอยู่จริงหรือไม่ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการโจรกรรมด้วย

ขณะที่นางสาวศาริสา จินดาวงษ์ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากชาวบ้านให้มาตรวจสอบว่า เป็นพระทองคำจริงหรือไม่ และไม่ต้องกังวลว่า จะยึดกลับมาเป็นโบราณวัตถุของกรมศิลปากร เนื่องจากจะต้องได้รับการอนุญาตของเจ้าอาวาสเสียก่อน

เตรียมขึ้นทะเบียน "พระองค์บาก" ทองคำแท้