ย้อนอดีต! ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินให้นายกฯ พ้นตำแหน่งมาแล้วกี่ราย พร้อมลุ้นศาลตัดสินคดี "ประยุทธ์" พักบ้านหลวงในวันนี้

วันนี้ (2 ธ.ค. 2563) ศาลรัฐธรรมนูญ นัดออกนั่งบัลลังก์ในเวลา 15.00 น. เพื่ออ่านคำวินิจฉัยคดีที่พรรคเพื่อไทยร้องให้วินิจฉัยคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีอาศัยบ้านพักทหาร หลังเกษียณอายุราชการมานานกว่า 6 ปี ถือว่าเข้าข่ายรับประโยชน์อื่นใด จากหน่วยงานราชการหรือไม่ ซึ่งเป็นเหตุทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้อง สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี หากพบว่า"ผิดจริง"

แต่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมหารือเพื่อแถลงคำวินิจฉัยส่วนตน ก่อนจะลงมติ ซึ่งแนวทางจะออกมาได้เพียง 2 แนวทางเท่านั้น คือ
1.ศาลตัดสินว่า "ไม่มีความผิด" ก็ถือเป็นคุณกับนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไปได้
2.ศาลตัดสินว่า "มีความผิด" นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง และจะส่งผลไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องพ้นสภาพไปทั้งคณะ ต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี และ ครม.ชุดใหม่ ขณะที่นายกรัฐมนตรีจะต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี

โดยในอดีต ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินให้นายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งหน้าที่มาแล้ว 3 ราย ประกอบด้วย
1.นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ วันที่ 9 ก.ย. 2551 จากกรณีจัดทำรายการอาหารเผยแพร่ทางโทรทัศน์ โดยมีความผิดตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 267
2.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน เนื่องจากมีการทำผิดตาม พ.ร.ป.การเลือกตั้ง 2550 มาตรา 68 ประกอบมาตรา 237 วรรค 2
3.นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นตำแหน่งเมื่อวันที่ วันที่ 7 พ.ค. 2557 เนื่องจากมีความผิดตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 268 ประกอบ 266 (2) และ (3) จากการโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี โดยมิชอบ