จ.นราธิวาส มีน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ 12 ตำบล 41 หมู่บ้าน ด้านผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ และเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนราธิวาส รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ฉบับที่ 1 กรณีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ทำให้ระดับน้ำในลุ่มแม่น้ำ 3 สายหลัก คือ ลุ่มน้ำโก-ลก มีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.37 ม. ลุ่มน้ำสายบุรี มีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.41 ม. และลุ่มน้ำบางนรา มีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.61 ม. ทำให้มีพื้นที่ประสบภัยใน 4 อำเภอ คือ อำเภอจะแนะ จำนวน 2 ตำบล อำเภอระแงะ จำนวน 3 ตำบล อำเภอเจาะไอร้อง จำนวน 3 ตำบล อำเภอบาเจาะ จำนวน 4 ตำบล รวมมีพื้นที่ประสบภัย 12 ตำบล 41 หมู่บ้าน มีผู้ประสบภัย 2251 คน 3621 ครัวเรือน โดยยังไม่มีการอพยพประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ความเสียหายในด้านทรัพย์สินมีบ้านเรือนเสียหายบางส่วน 1 หลัง ในด้านความเสียหายทางการเกษตรอยู่ระหว่างการสำรวจ

ทั้งนี้ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนราธิวาสได้ดำเนินการช่วยเหลือและสนับสนุนเรือท้องแบน และถุงกระสอบบรรจุทรายให้แก่พื้นที่ประสบภัยแล้ว นอกจากนี้ยังมีการให้ความช่วยเหลือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและทุกภาคส่วน โดยอำเภอได้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ความช่วยเหลือเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้มีหนังสือสั่งการนายอำเภอทุกอำเภอให้ปฏิบัติงานเชิงรุก เข้าถึงพื้นที่ โดยเน้นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และติดตามสถานการณ์จากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด

ด้าน นายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17 พร้อมคณะได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในจุดต่างๆ พร้อมกล่าวว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมามีฝนตกในจังหวัดนราธิวาสปริมาณเพิ่มขึ้น และมีฝนกระจายทั่วทุกอำเภอในจังหวัดนราธิวาส ส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำหลักของจังหวัดนราธิวาส คือ ลุ่มน้ำโก-ลก ลุ่มน้ำบางนรา และลุ่มน้ำสายบุรีมีปริมาณน้ำสูงขึ้น จึงได้แจ้งเตือนผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสไปยังประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำให้เฝ้าระวังและระดับน้ำที่สูงขึ้นและอาจล้นตลิ่ง โดยเฉพาะที่ลุ่มน้ำโก-ลก และลุ่มน้ำบางนรา สำหรับที่คลองตันหยงมัสซึ่งเป็นคลองสาขาของแม่น้ำบางนราถ้าไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มประมาณ 2 วัน ปริมาณน้ำจะลดลงและเข้าสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 17 ได้มีการเตรียมการตามข้อสั่งการ กำหนดพื้นที่ที่มีความเสี่ยง น้ำท่วมซ้ำซาก เป็นพื้นที่ที่ต้องมีการตั้งเครื่องมือในการรองรับสถานการณ์ก่อนที่จะเกิดเหตุ โดยสำนักงานชลประทานที่ 17 จะเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีเครื่องมือในการสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ มาติดตั้งก่อนที่จะมีเหตุมีการสูบพร่องน้ำในพื้นที่ออกก่อน ในด้านการเผชิญเหตุได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดต่างๆ เพื่อระบายน้ำ และพร่องน้ำในพื้นที่ โดยจะพยายามพร่องน้ำเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งมีการสูบน้ำวันละ 20 ชั่วโมง ทุกวันตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้ถือว่ายังไม่น่าห่วงมากนัก อาจมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำบ้างแต่พื้นที่โดยรอบยังอยู่ในสภาวะปกติ