จับตาที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ เป็นวันที่ 2 มีกระแสข่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ "ไอลอว์" อาจถูก ส.ส.รัฐบาล และ ส.ว.พิจารณาปัดตกตั้งแต่วาระแรก

เริ่มแล้วสำหรับการโหวตรับหรือไม่รับหลักการ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ซึ่งประกอบไปด้วย ร่างแก้ไขเพิ่มมาตรา 256 ของฝ่ายค้านและรัฐบาล ซึ่งเป็นการ เพิ่ม ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยไม่แตะหมวด 1-2 / ร่างแก้ไขเพิ่มมาตรา 256 ของไอลอว์ เปิดทางตั้ง ส.ส.ร.ยกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับโดยไม่มีเงื่อนไข

และยังมีอีก 4 ร่างของฝ่ายค้านที่เสนอแก้รายมาตรา คือ 1.เสนอแก้ไข มาตรา 272 และมาตรา 159 เพื่อยกเลิกอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี

2. เสนอแก้ไข มาตรา 270 และมาตรา 271 เกี่ยวกับอำนาจของวุฒิสภาในเรื่องการปฏิรูปประเทศ และอำนาจยับยั้งกฎหมาย

3. เสนอแก้ไข มาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่ทำให้ประกาศคำสั่งและการกระทำของ คสช.อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน

และ 4. เสนอแก้ไขระบบเลือกตั้ง กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

สำหรับร่างที่จะผ่านความเห็นชอบ จะต้องได้รับคะแนนโหวตจากสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 366 เสียง จากสมาชิกทั้งหมด 732 คน และจุดสำคัญ คือ ใน 366 เสียง ต้องมีเสียงของสมาชิกวุฒิสภา เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 82 เสียง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องลุ้นว่า ส.ว.จะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร

แต่เท่าที่จับกระแสจากอภิปรายตลอด 2 วันที่ผ่านมา พบว่า สว.ยังคงติดใจกับร่างของไอลอว์อยู่มาก รวมไปถึงไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 

ขณะที่ฝ่ายค้าน ก็มีมติแล้ว ว่าจะรับทั้ง 7 ฉบับ  ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังคงยืนยันจุดยืน ว่า จะรับแค่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ของพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น  เท่ากับว่าขณะนี้ร่างไอลอว์ มีความหวังเพียงริบหรี่ ที่จะผ่านความเห็นชอบจากสภา

ซึ่งนายจอน  อึ้งภากรณ์ ผู้ริเริ่มเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน หรือไอลอว์ ก็ยอมรับสภาพ ว่า วันนี้ร่างของไอลอว์น่าจะถูกตีตก เพราะสมาชิกรัฐสภาบางส่วนไม่ได้อยู่กับความเป็นจริงของสังคม ซึ่งหากสภาส่วนหนี่งไม่ตื่นตัวกับเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้ากับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ขณะเดียวกันส่วนตัวไม่พอใจกับการอภิปรายของ ส.ว.ที่ไม่มองเนื้อหาของร่างฯ กลับพูดใส่ร้ายองค์กรไอลอว์ว่ารับเงินจากต่างประเทศ และมีการทุจริตโดยไม่มีหลักฐาน

ลุ้น!! รัฐสภาโหวตรับ-ไม่รับร่างแก้ไข รธน. 7 ฉบับ