(8 พฤศจิกายน 2563) เมื่อเวลา 11.10 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. แถลงการเตรียมความพร้อมรับมือการชุมนุมกลุ่มราษฎร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ช่วงเย็นวันนี้

โดย พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ได้จัดวางกำลังตำรวจ 59 กองร้อย หรือ 9,145 นาย แบ่งพื้นที่รับผิดชอบเป็น 3 พื้นที่ โซนที่ 1 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และพื้นที่โดยรอบ ตั้งแต่ถนนราชดำเนินกลาง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถึงแยกผ่านฟ้า อยู่ในความรับผิดชอบของ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รอง ผบก.น.1 รักษาราชการแทน ผบก.น.1 โซน2 พื้นที่สนามหลวง ถนนโดยรอบสนามหลวง ศาลฎีกา และบริเวณใกล้เคียง อยู่ในความรับผิดชอบของ พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผบก.น.6 และโซน 3 ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้า แยก จปร. แยกมัฆวาน ถึงบริเวณทำเนียบรัฐบาล และพื้นที่โดยรอบ อยู่ในความรับผิดชอบของ พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปชัย รอง ผบช.น. พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น.

ทั้งนี้ทาง บช.น. ฝากเตือนผู้ชุมนุม และผู้จัดการชุมนุม ในมาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ห้ามมิให้มีการชุมนุมระยะ 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วัง ที่ประทับ หรือที่พำนัก ห้ามมีการชุมนุมโดยเด็ดขาด หากผู้ชุมนุมฝ่าฝืน ต้องได้รับโทษตามกฎหมายแน่นอน

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอีกว่า ทางการข่าวทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะใช้ถนนราชดำเนินกลาง ถนนนครสวรรค์ ซึ่งตำรวจได้ตั้งแนวตั้งรับจุดสุดท้ายที่ผู้ชุมนุมไม่สามารถผ่านได้บริเวณ แยก จปร. สะพามัฆวานรังสรรค์ ส่วนฝั่งสนามหลวง บริเวณถนนมหาธาตุ ทั้งนี้ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. อยู่ระหว่างพิจารณาประกาศให้พื้นที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นพื้นที่ห้ามการชุมนุมในระยะ 50 เมตร ด้วย นอกจากนี้การข่าวยังระบุอีกว่าผู้ชุมนุมอาจเคลื่อนที่แบบดาวกระจายไป 22 จุด ทางตำรวจได้จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เตรียมพร้อมรับมือไว้แล้ว

ทางนครบาลยืนยันว่าไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปบริเวณเขตพระราชฐานอย่างเด็ดขาด โดยจะมีมาตรการต่าๆ เพื่อย้ำเตือนไม่ให้ผู้ชุมนุมฝ่าฝืน แต่ถ้าผู้ชุมนุมฝ่าฝืนเข้ามาในระยะ 150 เมตร แม้จะไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว แต่ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามมาตรการทุกๆ ขั้นตอน ตั้งแต่การแจ้งเตือน ให้ข้อมูล และการตั้งแนวเพื่อเตือนว่าเป็นเขตอันตราย ห้ามฝ่าฝืน ส่วนกรณีที่ผู้ชุมนุมจะเขียนข้อความต่างๆ นั้น หากข้อความไม่มีผลกระทบหรือผิดกฎหมาย สามารถดำเนินการได้

ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า วันนี้ทราบว่ามีเพียงกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. ได้แจ้งการชุมนุม มีวัตถุประสงค์ จำนวนคน และระยะเวลาในการชุมนุมที่ชัดเจน ทั้งนี้อยากฝากถึงผู้ชุมนุมว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ได้ระบุไว้ว่าก่อนการชุมนุม 24 ชั่วโมง ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าพนักงาน เรื่องการจัดชุมนุมให้มีความสงบเรียบร้อย ปราศจากอาวุธ อย่างไรก็ตามแม้แต้งการชุมนุมแล้ว แต่หากทำผิดกฎหมายต่างๆ หรือฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ต้องดำเนินการตามกฎหมายเช่นกัน

ถามว่าหากมีการเผชิญหน้าของกลุ่มผู้ชุมนุม 2 กลุ่ม ตำรวจจะรับมืออย่างไร พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า เป็นข้อห่วงใยของทาง บช.น. จึงได้จัดกำลังไว้ในการรักษาความสงบเรียบร้อยพื้นที่โดยรอบจุดนั้น ยืนยันว่ากำลังตำรวจเพียงพอไม่ให้สองกลุ่มปะทะกัน

ถามว่าล่าสุดมีการสร้างสถานการณ์จากมือที่สาม โดยการปาระเบิดปิงปองที่สถานีรถไฟฟ้าท่าพระ ตำรวจจะมีมาตรการดูแลผู้ชุมนุมอย่างไรบ้าง พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า อยากให้ผู้ชุมนุมมาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อแจ้งการชุมนุม กำหนดมาตรการร่วมกัน ตำรวจจะได้แจ้งเงื่อนไข ข้อห้าม ข้อบังคับ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ว่าทำอะไรได้บ้าง การตั้งจุดตรวจคัดกรอง การตรวจอาวุธโดยเจ้าหน้าที่ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น อย่างกรณีเหตุการณ์ที่รถไฟฟ้าท่าพระ จากการสืบสวนและทดสอบ ปรากฎว่าประทัดที่จัดไม่สามารถทิ้งลงมาจากชั้น2 หรือบนอาคารได้ ก็แสดงว่าการจุดประทัดนั้นอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมเอง เพราะฉะนั้น หากไม่แจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย ไม่ได้วางมาตรการรักษาความปลอดภัยร่วมกันกับตำรวจ ก็อาจจะมีเหตุแบบนี้ขึ้น