ช่วงนี้เข้าโหมดฮาลาวีนกันหน่อย พาไปดูและรู้จักกับพิธีกรรมที่เป็นของชาวไทยเชื้อสายเขมร ที่จังหวัดสุรินทร์ ชื่อว่า รำมะม๊วด หรือรำแม่มด อัญเชิญผีและวิญญาณ เชื่อว่า ช่วยรักษาคนป่วยได้

เสียงบทสวดเป็นภาษาเขมรพร้อมวงมโหรีปี่พาทย์บรรเลง เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม จวลมะม๊วด หรือ รำแม่มด ที่ชาวบ้าน หมู่ 2 บ้านตาเบา ต.ตาเบา อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ จัดขึ้นเพื่อรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วยในหมู่บ้าน

โดยพิธีกรรมดังกล่าว เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษของชาวพื้นเมืองเขมรสุรินทร์ และแถบอีสานใต้ ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก โดยมีความเชื่อว่า วิญญาณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภูตผีปีศาจ และดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ จะมาช่วยรักษาโรคอาการเจ็บป่วยและให้โชคให้ลาภ

เจ้าพิธีกรรม หรือ พ่อหมอ จะทำพิธียกขันครู เชิญ ดวงวิญญาณมาประทับร่าง ประกอบด้วย เครื่องเซ่นสังเวย และ เครื่องบวงสรวง ซึ่งทำจากก้านกล้วยจำนวน 2 ชุด ชุดที่ 1 มี 3 ขาซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของดวงวิญญาณที่เป็นเพศชาย ชุดที่ 2 มี 4 ขา จะเป็นตัวแทนของดวงวิญญาณที่เป็นเพศหญิง พร้อมทั้งมีดอกไม้ธูปเทียน ที่สำคัญอาวุธ หรือ มีดดาบ 1  เล่ม ข้าวสาร 1 ขัน

มีดดาบที่ใช้ในพิธี ถือว่า เป็นอาวุธที่ใช้เพื่อการข่มดวงวิญญาณร้ายที่สิงสู่อยู่ในร่างของผู้ป่วย พ่อหมอจะสวดทำพิธี ตั่งแต่พระอาทิตย์ตกดินยาวข้ามวัน ข้ามคืน ผู้ร่วมพิธีจะสลับผลัดเปลี่ยนออกมาฟ้อนรำ เมื่อถึงเวลาก็จะใช้มีดดาบฟันไปที่ต้นกล้วย ที่เป็นตัวแทนของคนป่วย

ชาวบ้านแถบอีสานใต้ นิยมทำกันประจำทุกปี โดยเฉพาะช่วงหลังออกพรรษาเป็นต้นมา นอกจากเชื่อว่าช่วยรักษาคนในหมู่บ้านให้หายเจ็บป่วย ยังช่วยเสริม ความเป็นสิริมงคล ให้โชค ให้ลาภ

เปิดพิธีกรรม "รำแม่มด" หรือ "มะม๊วด" เชื่อรักษาคนป่วย