กรมการขนส่งทางราง เตรียมเสนอ ศบค. ให้ผู้โดยสารสามารถนั่งติดกันบนรถไฟฟ้า รองรับช่วงเปิดเทอม ที่จะมีคนเดินทางมากขึ้น

(18 มิ.ย. 2563) นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือเตรียมการรองรับการกำหนดมาตรการดูแลผู้โดยสารในช่วงเปิดภาคเรียนของนักเรียน นักศึกษา ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2563 ร่วมกับผู้ให้บริการระบบรางทุกราย พร้อมดัวยกรมควบคุมโรค และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

โดยนายสรพงศ์ ระบุว่า จากที่รัฐบาลได้มีมาตรการผ่อนคลายสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในระยะที่ 4 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการออกมาตรการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ การยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว รวมถึงมาตรการผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา การผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ และมาตรการด้านการขนส่งสาธารณะ ขร. จึงได้จัดให้มีการประชุมหารือดังกล่าว เพื่อเตรียมพร้อมมาตรการดูแลผู้โดยสารในระบบรถไฟฟ้า และรถไฟอย่างเหมาะสม

โดยที่ประชุมได้มีข้อสรุปใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย (1) ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันกรณีการเสนอรัฐบาลในการคลายล็อคมาตรการเว้นระยะห่างภายในรถไฟฟ้า รถไฟชานเมือง เนื่องจากปัจจุบันมีผู้โดยสารกลับมาในระบบประมาณ 800,000 คน/วัน และคาดว่าหากเปิดเทอมจะมีผู้โดยสารมากกว่า 1,000,000 เที่ยว/คน ซึ่งหากยังคงมาตรการเดิม อาจทำให้เกิดการติดเชื้ออื่น ๆ เข่น ไข้หวัด จากการรอบริเวณสถานีเป็นจำนวนมากในชั่วโมงเร่งด่วน โดยสมควรกำหนดเพิ่มความหนาแน่นได้ไม่เกินร้อยละ 70 รวมถึงกำหนดจุดยืนแบบหันหลังชนกันภายในรถ และอนุญาตให้นั่งในที่นั่งติดกันได้ จากเดิมหากเป็นมาตรการเข้มงวดจะจำกัดความหนาแน่นที่ร้อยละ 25 และขณะนี้ด้วยสภาพบังคับในชั่วโมงเร่งด่วน ได้ดำเนินการจำกัดความหนาแน่นอยู่ที่ร้อยละ 50

ทั้งนี้ จากงานวิจัยทั่วโลกพบหากมีการเข้มงวดในเรื่องการคัดกรอง (คัดกรองอุณหภูมิ) ป้องกัน (สวมหนากาก) และควบคุม (การบริการเจลแอลกอฮอล์ และการทำความสะอาด) จะไม่ปรากฏการพบผู้ติดเชื้อในระบบรถสาธารณะ ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทยไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศเป็นเวลา 23 วันต่อเนื่องแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเข้มงวดใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) ประเด็นด้านระบบการจัดการ โดยกำหนดให้มี Safety manager ตรวจสอบความสะอาด ความหนาแน่น และการดูแลการบริการตามมาตรฐานสากล สาธารณสุขอย่างสม่ำเสมอ (2) ประเด็นระบบการใช้บริการ โดยกำหนดให้ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากาก 100% งดเว้นการพูดคุยภายในตู้โดยสาร และกำหนดให้ยอมรับการทำ Group release กรณีเกิดสภาพความหนาแน่นภายในขบวนรถ และ (3) ประเด็นการติดตามผู้โดยสารด้วยแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ควรใช้เฉพาะในระบบรถไฟที่ใช้เวลาเดินทางมากกว่า 1 ชม. ขณะที่ผู้โดยสารรถไฟฟ้าจะใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 8 สถานี ๆ ละ 3 นาที รวม 24 นาทีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะร่วมกันจัดทำแนวทางการปฏิบัติ (Guideline) เพื่อป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดสำหรับการโดยสารในระบบรางต่อไป กรมฯรางชงเสนอ MOU ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้านการให้คำแนะนำ ติดตาม และตรวจสอบสภาพการแพร่ระบาดภายในระบบรถไฟฟ้า และรถไฟ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบที่ประชาชนสามารถวางใจได้ ทั้งนี้ ขร. จะรายงานผลการหารือไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณา และเสนอ ศบค. ปลดล็อคการเว้นระยะที่นั่งภายในรถไฟฟ้า และรถไฟ ต่อไป