หลังใช้เวลาอภิปราย นานกว่า 5 วัน 4 คืน ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติให้ความเห็นชอบ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 274 งดออกเสียง 207

2. เห็นชอบ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน ภายในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ด้วยคะแนน 275 ต่อ 1 งดออกเสียง 205

และ 3.เห็นชอบ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ให้อำนาจแบงก์ชาติมีอำนาจซื้อหน่วยลงทุนจากภาคเอกชน ภายในวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ด้วยคะแนนเสียง 274 เสียง ต่อ 195 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ไม่ออกเสียง 1 เสียง

นายกรัฐมนตรี ยืนยันรัฐบาลเร่งดำเนินมาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ทุกกลุ่ม พร้อมให้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ และไม่ขัดข้องตั้งกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ตาม พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า รัฐบาลพยายามดำเนินมาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ทุกกลุ่ม โดยไม่เคยเอื้อประโยชน์ให้กับใคร ทุกกลุ่มคนในประเทศต้องได้รับการเยียวยา โดยมาตรการเงินเยียวยา 5 พันบาท นั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเยียวยาเท่านั้น ซึ่งอยากให้มองภาพกว้างว่ารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ออกมาแล้วหลายด้าน ทั้งนี้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ใน 5 มิติ ประกอบด้วย การลดค่าใช้จ่าย เพิ่มสภาพคล่อง เยียวยาทุกกลุ่ม ชะลอหนี้สิน และ การเข้าถึงแหล่งเงิน และชี้แจงถึงมาตรการฟื้นฟูและสร้างความแข็งแกร่ง 4 แสนล้านบาท ที่ฝ่ายค้านแสดงความเป็นห่วง นั้น ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีเป็นห่วงยิ่งกว่าฝ่ายค้าน ซึ่งในฐานะผู้รับผิดชอบต้องดูแลให้ดีที่สุด เพื่อสนับสนุนเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศให้ดีขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยินดีให้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ และการดำเนินการ ตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ อีกทั้งยืนยันว่าการใช้จ่ายเงินกู้นั้น มีการตรวจสอบทุกขั้นตอน เพราะเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ถือเป็นเงินแผ่นดิน เป็นการเบิกจ่ายเงินเช่นเดียวกับงบประมาณปกติ ดังนั้นอะไรที่ยังไม่เกิดก็อย่าอ้างเรื่องเก่า เพราะเกรงว่าจะไปกระทบกับคนบางคน และเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการ จึง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำเว็บไซต์ติดตามความก้าวหน้า ของแต่ละแผนงานและโครงการ ส่วนข้อเสนอ การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ตาม พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับ นั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่าไม่ได้คัดค้าน เพราะเป็นเรื่องของสภาที่ต้องไปหารือกัน หากจะให้พูดตอนนี้เห็นว่ายังไม่ถึงเวลา ต้องให้ ไปพิจารณากันก่อน

นายกรัฐมนตรี ขอให้เชื่อมั่นและไว้วางใจรัฐบาล ยืนยันจะบริหารประเทศบนพื้นฐานข้อมูลที่รอบด้าน และรับฟังทุกข้อเสนอแนะ