นายกรัฐมนตรี เข้าชี้แจงเกี่ยวกับ พ.ร.ก.กู้เงิน โดยระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องกู้ เหตุเงินไม่เพียงพอในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

(27 พ.ค. 2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงเกี่ยวกับ พ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับที่ 1 โดยให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยระบุว่า เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ และยังไม่มียารักษา ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพ

รัฐบาลจึงมีมาตรการการปิดพื้นที่ เว้นระยะห่างทางสังคม ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด หลังจากนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศได้ และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีผู้ติดเชื้อตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. จึงมีความจำเป็นต้องปิดพื้นที่เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ทำให้สถานประกอบการต่าง ๆ ไม่สามารถเปิดทำการและสร้างรายได้ โดยจากการปิดกิจการ และสถานที่ต่าง ๆ รัฐบาลประมาณการว่า มีการเสียรายได้กว่า 9.28 แสนล้านบาท และมีคนว่างงานนับล้านคน

ทั้งนี้ แม้ว่าการแก้ไขที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามทุกวิถีทาง ในการจัดการงบประมาณ แต่เงินยังไม่มีเพียงพอในการช่วยเหลือประชาชน ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในประเทศ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นโดยเฉพาะการสร้างสถานบริการด้านการสาธารณสุข การจ่ายเงินเยียวยา การฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังการแพร่ระบาดคลี่คลายงบประมาณไม่เกิน 1 ล้านล้านลาท รัฐบาลไม่สามารถใช้กฎหมายปัจจุบันได้จึงมีการตราพระราชกำหนดซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาลเพื่อความมั่นคงปลอดภัยทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวต่ออีกว่า ปฎิเสธไม่ได้ว่าการกู้ครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ แต่กระทรวงการคลัง ได้มีการวางแผนการชำระหนี้อย่างเป็นระบบและเพื่อให้การใช้จ่ายเป็นไปอย่างโปร่งใส จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการคัดกรองการใช้จ่ายเงินกู้ขึ้น

อะไรก็ตามเพื่อ สร้างความพร้อมด้านสาธารณสุขช่วยเหลือประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในประกอบอาชีพ ตลอดจนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศกลับมาสู่สภาวะปกติโดยเร็ว จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง และต้องมีการตราพระราชกำหนดให้อานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยหวังว่า สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาอนุมัติ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว