ทีมนักวิจัยจีน วิเคราะห์ไวรัสสายพันธุ์หนึ่งที่ได้จากค้างคาว พบว่ามีลักษณะข้อมูลทางพันธุกรรมคล้ายกับไวรัสโควิด-19 พร้อมยืนยันว่า โควิด ไม่ได้เกิดจากฝีมือมนุษย์

(16 พ.ค. 2563) สำนักข่าวซินหัว เปิดเผยรายงานของทีมนักวิทยาศาสตร์จีน ที่ได้ทำการวิเคราะห์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์หนึ่งที่ชื่อว่า "อาร์เอ็มวายเอ็น02" (RmYN02) ซึ่งได้มาจากค้างคาว ว่ามีลักษณะจีโนมหรือข้อมูลทางพันธุกรรมคล้ายคลึงกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) พร้อมยืนยันว่า เป็นหลักฐานที่ชัดเจนอันเชื่อได้ว่า ไวรัสโควิด-19 เกิดจากธรรมชาติ ไม่ได้หลุดมาจากห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์

สำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ "อาร์เอ็มวายเอ็น02" มีกรดอะมิโนหลายชนิดเพิ่มขึ้น ณ ตำแหน่งรอยต่อของโปรตีนหนาม (Spike Protein) หรือโปรตีนเอส (S Protein) ในหน่วยย่อยเอส 1 และเอส 2 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติระหว่างการกลายพันธุ์

โดยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งที่ 1 ซานตง และผู้นำทีมวิทยาศาสตร์ ระบุว่า การค้นพบในครั้งนี้ รวมถึงก่อนหน้านี้ที่ค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์หนึ่งในตัวนิ่ม สะท้อนว่าลักษณะทางพันธุกรรม 2 ประการของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ล้วนเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ถือเป็นหลักฐานที่ค้านกันกับทฤษฎีไวรัสหลุดจากห้องปฏิบัติการ