ทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮ่องกง เปรียบเทียบความสามารถการติดเชื้อที่เยื่อตาและทางเดินหายใจส่วนบน พบว่า ไวรัสโควิด-19 มีความสามารถเหนือกว่าไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส

(9 พ.ค. 2563) สำนักข่าวซินหัว รายงานเกี่ยวกับผลการวิจัยการเปรียบเทียบการติดเชื้อของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 กับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ต่าง ๆ เช่น เอช 5 เอ็น 1 (H5N1), เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) และไวรัสซาร์ส ด้วยการศึกษาเนื้อเยื่อระบบทางเดินหายใจส่วนบน และเนื้อเยื่อตาของมนุษย์ในห้องปฏิบัติการความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 3 แห่งหนึ่ง

ผลการศึกษาพบว่า ไวรัสโควิด-19 มีความสามารถในการติดเชื้อที่เยื่อตาและทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าไวรัสโรคซาร์ส และมีระดับการติดเชื้อใกล้เคียงกับที่พบในการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 หรือเชื้อไวรัส เอช 1 เอ็น 1

ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกันแล้ว ข้อมูลดังกล่าวจะอธิบายได้ถึงความสามารถในการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ที่สูงกว่าโรคซาร์ส และยังย้ำถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ดวงตาอาจเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในมนุษย์อีกด้วย

สำหรับข้อมูลดังกล่าวถูกวิจัยโดย รองศาสตราจารย์ ไมเคิล เฉิน จื้อ-เวย จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮ่องกง และทีมงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยศึกษาวิจัยจนค้นพบว่า โควิด-19 สามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวเรียบ เช่น เหล็กไร้สนิม แก้ว และพลาสติกได้นาน 2-3 วัน ซึ่งมนุษย์อาจไปสัมผัสจนมีไวรัสปนเปื้อนตามมือ แล้วมาขยี้ตาจนเป็นผลให้ติดเชื้อ