"ปศุสัตว์" สรุปสถานการณ์โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ตายทะลุ 154 ตัว ยังมีอาการป่วย 10 ตัว จากฟาร์มเลี้ยง 4 จังหวัด "นครราชสีมา -ประจวบคีรีขันธ์ -ชลบุรี- เพชรบุรี" รวม 835 ตัว 32 ฟาร์มเลี้ยง 32 ราย

สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ รายงานสถานการณ์โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า พบว่า มีม้าตาย 154 ตัว ป่วย 10 ตัว จากจำนวนม้าทั้งหมด 835 ตัว 32 ฟาร์มเลี้ยงม้า ใน 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี เพชรบุรี

ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมา มี 3 ฟาร์มเลี้ยงม้า พบว่า ม้าป่วยมีจำนวนมากที่สุด 207 ตัว และยังมีการป่วย 22 ตัว ตาย 23 ตัว

สำหรับจำนวนสะสม จังหวัดนครราชสีมา ฟาร์มเลี้ยงม้า 23 ราย จำนวนทั้งหมด 785 ตัว จำนวนป่วย 147 ตัว จำนวนคงเหลือป่วย 9 ตัว จำนวนตาย 138 ตัว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ฟาร์มเลี้ยง 7 ราย จำนวนทั้งหมด 15 ตัว จำนวนป่วย 10 ตัว จำนวนตาย 10 ตัว 

จังหวัดชลบุรี ฟาร์มเลี้ยง 1 ราย จำนวนทั้งหมด 33 ตัว จำนวนป่วย 6 ตัว จำนวนคงเหลือป่วย 1 ตัว จำนวนตาย 5 ตัว จังหวัดเพชรบุรี ฟาร์มเลี้ยง 1 ราย จำนวนทั้งหมด 2 ตัว จำนวนป่วย 1 ตัว จำนวนตาย 1 ตัว

ด้าน นส.พ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ปัจจุบันเกิดการแพร่ระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (Afican Horse Sickness) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อในตระกูล ม้า ลา ล่อ ม้าลาย

โดยได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคฯ ดังกล่าว ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส RNA ชนิดไม่มีเปลือกหุ้มชื่อ Reoviridae genus Orbivirus ทำให้ม้า ลา ล่อ ม้าลาย มักแสดงอาการมีไข้สูง มีอาการเกี่ยวกับระบบทางหายใจ แล้วตายโดยฉับพลัน

ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นแบบที่เฉียบพลันรุนแรง โดยเชื้อไวรัสดังกล่าว ไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก และไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 ใดๆ ทั้งสิ้น

กรมปศุสัตว์ได้บูรณาการทำงานกับทุกหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านโรคระบาดสัตว์ อาทิ ผู้แทนจากองค์การสวนสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย สมาคมม้าแห่งประเทศไทย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ

รวมถึงอาจารย์จากมหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เพื่อสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังโรคในม้า จากปัจจุบันเกิดการแพร่ระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า

สำหรับโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส RNA ชนิดไม่มีเปลือกหุ้มชื่อ Reoviridae genus Orbivirus โดยก่อให้เกิดในม้า ลา ล่อ ม้าลาย อูฐ และสุนัข โดยมักทำให้ม้าและล่อแสดงอาการป่วยรุนแรงและตาย ส่วนในลาและม้าลายจะแสดงอาการแบบไม่รุนแรง โรคนี้ไม่ใช่ติดต่อจากสัตว์สู่คน

ทางระบาดวิทยาพบรายงานการเกิดโรคในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง อียิปต์ สเปน โปรตุเกส โมร็อกโค ปากีสถาน และอินเดียตั้งแต่ พ.ศ. 2548 - 2554 การที่มีม้าป่วยตายด้วยโรคนี้ จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย

ซึ่งพาหะของโรคคือ แมลงดูดเลือดได้แก่ ริ้น เหลือบ เห็บ ยุง และแมลงวันดูดเลือด ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2 - 21 วัน อาการสัตว์ที่ติดเชื้อโรคกาฬโรคแอฟริกาจะแสดงอาการได้ 2 รูปแบบ คือ

1.แบบเฉียบพลันรุนแรง สัตว์จะมีไข้สูง หายใจลำบาก ไอ มีน้ำมูกเป็นฟองสีเหลืองขุ่น สัตว์จะตายภายใน 2 - 3 ชั่วโมง หลังจากแสดงอาการ

2.แบบกึ่งเฉียบพลัน สัตว์จะมีไข้สูงประมาณ 3 - 6 วัน หลังจากนั้นไข้จะลดลง มีอาการบวมน้ำบริเวณขมับ เปลือก ตา แก้ม ริมฝีปาก ลิ้น บริเวณขากรรไกร คอ ไหล่ และหน้าอก มีจุดเลือดออกบริเวณลิ้นและเยื่อบุตา สัตว์จะตายจากภาวะหัวใจล้มเหลว หากสัตว์ที่ป่วยไม่รุนแรงมักหาย