ครม.อนุมัติแพ็กเกจอัดเงินเข้าเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน เสริมสภาพคล่องภาคธุรกิจ 6 หมื่นล้าน ฝ่าวิกฤตโควิด-19 มาตรการการเงิน การคลัง เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ-ลดภาษีสารพัดรายการ อนุมัติงบฯกลาง 2 หมื่นล้าน อุ้มแรงงานถูกเลิกจ้าง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบชุดมาตรการ “ดูแลและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ชุดที่ 1” เป็นชุดมาตรการดูแลเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 4 แสนล้านบาท ยังไม่ได้ประเมินว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้เติบโตสูงกว่า 0.5% ได้หรือไม่ +หากมีการประเมินสถานการณ์แล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการชุดที่ 2 กระทรวงการคลังก็มีความพร้อม จะเป็นการดูแลในด้านมาตรการส่งออก ทั้งการเงินและภาษี และอาจจะช่วยประชาชนด้วย จะเป็นการแจกเงินหรือไม่นั้นจะต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง

ไฟเขียว 4 มาตรการเงินกู้ สำหรับมาตรการที่ ครม.อนุมัตินั้น เป็นมาตรการการเงินและการคลัง ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้สถาบันการเงินดอกเบี้ย 0.01% และสถาบันการเงินจะนำไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ ดอกเบี้ย 2% ใน 2 ปี ไม่เกิน 20 ล้านบาท/ราย วงเงินสินเชื่อรวม 150,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยซอฟต์โลนให้กับธนาคารออมสินอีก 7,500 ล้านบาท

2) มาตรการพักชำระเงินต้น ลดดอกเบี้ย เสริมให้ผู้ประกอบการที่ต้องการกู้เงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ วงเงิน 150,000 ล้านบาท และให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อ 3) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามที่ ธปท.ออกมาตรการตั้งแต่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา และ 4) มาตรการสินเชื่อพิเศษ จากกองทุนประกันสังคม วงเงิน 30,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 3% ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี ให้ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม

ลดภาษี คืนสภาพคล่อง นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางภาษี ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการคืนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการด้วยการลดอัตราหักภาษี ณ ที่จ่าย เหลือ 1.5% จากเดิมหักอยู่ที่ 3% เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. 2) ให้สิทธิ์ผู้ประกอบการที่ใช้สินเชื่อซอฟต์โลน และจัดทำบัญชีเดียว สามารถนำรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ไปหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า ตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค. 63 3) นายจ้างนำรายจ่ายลูกจ้างมาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 ก.ค. 63 และ 4) กระทรวงการคลังจะเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการในประเทศที่ยื่นแบบภาษีออนไลน์ ภายใน 15 วัน ส่วนผู้ประกอบการยื่นแบบที่สรรพากร จะได้คืนภายใน 45 วัน