ชาวเมืองเพชรบุรี กล่าวตำหนิการซ่อมแซมศาลาการเปรียญ ของวัดใหญ่สุวรรณาราม ที่ช่างไม่ยอมคงรูปแบบตามเดิมในสมัยโบราณ และยังใช้ของไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐานมาดำเนินการด้วย
นายล้อม เพ็งแก้ว นักประวัติศาสตร์เมืองเพชรบุรี และนายทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติ นำคณะนักวิชาการอิสระ พร้อมด้วยช่างฝีมือเมืองเพชรบุรี เข้าตรวจสอบการบูรณะซ่อมแซมศาลาการเปรียญ วัดใหญ่สุวรรณาราม หลังได้รับแจ้งว่า ช่างผู้รับเหมานำเสาไม้ที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้งาน และไม่ได้นำเทคนิคโบราณของช่างเมืองเพชรบุรี มาใช้ในการบูรณะให้เหมือนเดิม
โดยนายล้อม กล่าวว่า การซ่อมแซมบูรณศาลาการ เปรียญในครั้งนี้ ช่างผู้รับเหมานำวัสดุไม่มีคุณภาพมาใช้ โดยเฉพาะเสาไม้ที่มีรอยปะผุ และเป็นกระพี้ไม้ หรือไม้ที่มีลักษณะอ่อนยุ่ย ซึ่งจะทำให้ปลวกเข้าไปกินเนื้อไม้ได้โดยง่าย อีกทั้งยังพบว่าฝีมือการเข้าไม้ของช่างผู้รับเหมาก็ไม่มีความประณีต ที่สำคัญการเข้าไม้โดยใช้สลักเดือยและใช้ตะปูให้น้อยที่สุด ซึ่งเป็นเสน่ห์ของการสร้างบ้านและอาคารเรือนไม้แบบไทย กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการบูรณะครั้งนี้เลย
ขณะที่นายสมคิด ชัยราช หัวหน้าคุมงานก่อสร้าง ชี้แจงว่า การบูณะซ่อมแซมศาลาการเปรียญในครั้งนี้ ทางบริษัทได้ประมูลงานมาจากกรมศิลปากรในงบประมาณ 12 ล้านบาท โดยได้ดำเนินงานตามรูปแบบของกรมศิลปากรทุกอย่าง ส่วนเสาไม้ที่ถูกท้วงติงนั้น ยอมรับว่าเป็นเสาไม้ในสภาพปานกลางไม่ถึงกับดีมาก แต่กรมศิลปากรได้เข้ามาตรวจสอบแล้ว และอนุญาตให้ใช้เสาไม้ดังกล่าวได้
และในส่วนที่ต้องใช้ตะปูเข้ามาใช้แทนการใช้สลักเดือยเพราะว่า ต้องการให้เกิดความแข็งแรงทนทานยิ่งขึ้น ซึ่งจากนี้ไปจะรายงานให้กรมศิลปากรทราบว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป
สำหรับศาลาการเปรียญหลังนี้ เป็นสถาปัตยกรรม-ศิลปกรรมยุคอยุธยาตอนปลาย เดิมเป็นตำหนักของเจ้าฟ้าพระขวัญ ต่อมาพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ ได้รื้อมาถวายพระสังฆราชแตงโม หรือพระสุวรรณมุณี พระสังฆราช โดยมีบานประตูแกะสลักที่งดงาม และมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก