นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาที่ Asia Society ย้ำบทบาทของไทยในภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน

วานนี้ (25 กันยายน 2562) เวลา 12.05 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ Asia Society นครนิวยอร์ก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับผู้บริหาร Asia Society ได้แก่ มาดามโจเซ็ท ชีราน ประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร Asia Society คุณทอม นากอร์สกี้ รองประธานบริหาร Asia Society และ แขกรับเชิญ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการรับประทานอาหารได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนระหว่างประเทศ จากความแข็งแกร่งภายในสังคมไทย"

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มากล่าวปาฐกถา ณ Asia Society ถือเป็นปาฐกถาครั้งแรกในรอบ 7 ปี ของนายกรัฐมนตรีไทย ขอบคุณ Asia Society ที่ได้ดำเนินบทบาทอย่างแข็งขัน ในการส่งเสริมความเข้าใจอันดี และความร่วมมือระหว่างเอเชียกับสหรัฐฯ เป็นเวลากว่า 60 ปี ซึ่งไทยภูมิใจที่เป็นประเทศแรกในเอเชียที่เป็นมิตร และภาคีสนธิสัญญาของสหรัฐฯ ซึ่งความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-สหรัฐฯ นี้ ยังได้สร้างเสถียรภาพและความเจริญสู่ภูมิภาค

ประเทศไทยตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของบริบทโลก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อเสถียรภาพของสังคมและสวัสดิภาพความกินดีอยู่ดีของประชาชน อาทิ ภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ ไปจนถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้ความท้าทายต่างๆเหล่านี้ ไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีเสถียรภาพ สันติภาพ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสังคมอย่างต่อเนื่อง

และถือเป็นภูมิภาคที่เชื่อมต่อ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ หรือที่ฝ่ายสหรัฐฯ ในปัจจุบันรวมเรียกว่า อินโด-แปซิฟิก ถือว่าเป็น "ภูมิภาคแห่งโอกาส" เนื่องจากมีประชากรรวมกันแล้วเกือบ 3 พันล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และเป็นศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตหลากหลายสาขาที่สำคัญ ประเทศไทยจึงดำเนินนโยบายเพื่อเสริมสร้าง "ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน" กับประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศนอกภูมิภาคที่ร่วมความคิด (like-minded) และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวไทยเองเพื่อสามารถแสดงบทบาทนำดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงพัฒนาการในประเทศไทย ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้วางรากฐานด้านต่างๆ และยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปากท้อง และการเอารัดเอาเปรียบในสังคม ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลปรับปรุงกฎระเบียบ และวิธีทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจและนักลงทุนเพิ่มขึ้น

ด้านสังคม รัฐบาลประกาศให้การต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ และได้กำกับดูแลการจัดการปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ด้านการเมือง ปฏิบัติตาม Roadmap อย่างครบถ้วน ต่อจากนี้ ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย ที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีเป้าหมายคือ จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูง ภายในปี 2579 มีความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน มีพัฒนาการทางสังคมที่เป็นธรรม และเท่าเทียมในสิทธิพื้นฐาน เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ตลอดจนเพิ่มพูนบทบาทเสริมสร้าง"ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน" กับนานาประเทศ โดยมีอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเป็นจุดตั้งต้น

การเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ ไม่เพียงเน้นการมองไปสู่อนาคต และเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียนให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อเป็นหลักให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือ และเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นกับประเทศนอกภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศคู่เจรจาต่างๆ ของอาเซียน ภายใต้แนวคิดหลักคือ "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" (Advancing Partnership for Sustainability) โดยการดำเนินการดังกล่าว ต้องครอบคลุมในทุกมิติหรือ Sustainability of Things (SoTs)

อย่างไรก็ดี ไทยให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญตามวิสัยทัศน์อาเซียน เพราะเชื่อว่า เมื่อประเทศต่างๆ มีระดับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน ก็จะเกิดความเข้าใจกัน และร่วมมือกันใกล้ชิดขึ้น

นายกรัฐมนตรีให้คำมั่นว่า ในช่วงเวลาการเป็นประธานอาเซียนที่เหลือของไทย จะเดินหน้าส่งเสริมความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วน กับประเทศทั้งภายในและภายนอกอาเซียน

และในปี 2565 ไทยจะรับหน้าที่ประธานการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคไทย ยินดีเปิดรับความเห็นและข้อแนะนำจากมิตรประเทศ เพื่อให้วาระประธานเอเปคของไทยเกิดประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก และประชาคมระหว่างประเทศในวงกว้าง

โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี หวังว่า การกล่าวปาฐกถาครั้งนี้ จะเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความเข้าใจต่อพัฒนาการและบทบาทระหว่างประเทศของประเทศไทย และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นหุ้นส่วนใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน