นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการโครงการเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

วันที่ 5 ก.ค. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังของกรุงเทพมหานคร ที่โครงการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) บริเวณสถานีตำรวจนครบาลบางเขน, โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe jacking) ถ.พหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ และโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต

สำหรับโครงการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) บริเวณสถานีตำรวจนครบาลบางเขน ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 61 โดยรูปแบบการก่อสร้าง จะเริ่มจากการก่อสร้างบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ใต้ดิน พร้อมทั้งก่อสร้างบ่อส่งน้ำเพื่อรับน้ำที่ท่วมขังส่งไปยังบ่อหน่วงน้ำ โดยวางท่อระบายน้ำเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 1.20 ม. สำหรับรับน้ำฝนในช่วงเวลาที่ฝนตกเข้ามาเก็บไว้ที่บ่อหน่วงน้ำ โดยการเชื่อมท่อระบายน้ำเข้ากับท่อระบายน้ำเดิม หรืออาจจะวางท่อระบายน้ำใหม่จากบ่อหน่วงน้ำไปยังคลองโดยตรง และดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เมื่อฝนหยุดตกหรือระดับน้ำในคลองลดต่ำลง จะสูบน้ำจากบ่อหน่วงน้ำออกไปตามแนวท่อระบายน้ำไปยังบ่อรับน้ำเพื่อระบายลงสู่คลองในพื้นที่ต่อไป

ส่วนโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe jacking) ถ.พหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ เมื่อแล้วเสร็จ จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในถนนสายหลัก เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณถนนพหลโยธินและพื้นที่ใกล้เคียง

ขณะที่โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต จะสามารถสามารถเร่งระบายน้ำลงสู่คลองบางซื่อ คลองลาดยาว คลองบางเขน คลองวัดหลักสี่ ระบายออกสู่คลองเปรมประชากร และอีกส่วนหนึ่งระบายออกคลองลาดพร้าว ตลอดจนช่วยดึงน้ำบริเวณคูน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออกลงสู่ระบบอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมเข้าพื้นที่ก่อนที่ฝนจะตก ขณะฝนตก และหลังฝนหยุดตก ซึ่งสำนักการระบายน้ำมีศูนย์เรดาร์ตรวจอากาศอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรดาร์ตรวจอากาศหนองแขม ศูนย์เรดาร์ตรวจอากาศหนองบอน และศูนย์เรดาร์ตรวจอากาศหนองจอก ซึ่งศูนย์เรดาร์ดังกล่าวจะทำการตรวจจับกลุ่มเมฆฝน โดยจะทราบล่วงหน้าก่อนที่กลุ่มเมฆฝนจะเข้าพื้นที่ประมาณ 3 ชั่วโมง จากนั้นสำนักการระบายน้ำจะแจ้งเตือนผ่านระบบต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าพื้นที่เตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนที่ฝนจะตก รวมถึงการลดระดับน้ำในคลองให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนที่ตกลงมา

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำแล้วเสร็จหลายโครงการ หากฝนตกลงมาในปริมาณมากเกินกว่า 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง กรุงเทพมหานครจะใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้เร็วกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปริมาณฝนที่เท่ากัน