กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ระบุ "สูบบุหรี่ในบ้าน" มีความผิดตามกฎหมายใหม่ เท่ากับทำความรุนแรงในครอบครัว เพราะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกับคนในบ้าน เริ่มมีผลบังคับใช้ 20 สิงหาคมนี้

นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศ 90 วัน หรือ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 สิงหาคม 2562

โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเน้นการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว ส่งเสริมครอบครัว และคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลต่างๆ โดยในส่วนของความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งการสูบบุหรี่ในบ้าน สามารถเอาผิดได้ ในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจากคำนิยามของความรุนแรงในครอบครัวนั้น รวมไปถึงการทำอันตรายต่อสุขภาพด้วย

ดังนั้น หากใครได้รับผลกระทบ หรือพบเห็นผู้ได้รับผลกระทบ สามารถร้องเรียนได้ที่ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว ทุกจังหวัด หรือ พม.จังหวัดได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล และพิสูจน์ว่า ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการสูบบุหรี่จริงหรือไม่

หากได้รับผลกระทบจริง หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมฯ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยศาลสามารถสั่งให้ออกห่างจากคู่กรณี และให้ไปบำบัดรักษาปรับพฤติกรรมได้

ผู้ที่สูบบุหรี่ในบ้านมีความผิดฐานก่อความรุนแรงในครอบครัว เพราะทำให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพของคนในครอบครัว อาจจะต้องขึ้นศาลเพื่อพิจารณาความผิด 2 ศาล คือ กรณีที่มีการทำร้ายทางกาย ต้องขึ้นศาลอาญา เพื่อให้รับโทษตามกฎหมายอาญา และขึ้นศาลเยาวชน และครอบครัวกลาง

ซึ่งศาลอาจมีคำสั่ง ให้คุ้มครองคนในครอบครัว และสั่งบังคับให้ผู้ที่สูบบุหรี่ และทำให้เกิดปัญหาในบ้านเข้ารับการบำบัดและเลิกบุหรี่ เพื่อไม่ให้ทำพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความรุนแรงอีก

ทั้งนี้ จากการศึกษา พบว่า มีครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่กว่า 4 ล้าน 9 แสนครัวเรือน และมีผลวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีสามีสูบบุหรี่ หรือผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่ มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 และร้อยละ 19 ตามลำดับ

ส่วนทารกที่มีผู้ปกครองสูบบุหรี่ มีโอกาสเกิดภาวะไหลตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า โอกาสเกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบเพิ่มขึ้นร้อยละ 47 และมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น ร้อยละ 39