กกต.ออกมาชี้แจงยืนยัน "พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยพรรคพลังประชารัฐได้ แต่ต้องวางตัวเป็นกลาง ขณะที่พลังประชารัฐหารือ เตรียมวางคิวให้ พลเอก ประยุทธ์ ประเดิมหาเสียงที่โคราช 10 มี.ค.นี้

พันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการตอบข้อซักถามของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สามารถเดินหาเสียงขึ้นเวทีปราศรัย และร่วมกิจกรรมของพรรคได้

แต่ต้องระมัดระวังตามมาตรา 78 ของกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ในเรื่องการวางตัวเป็นกลางของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นการตอบคำถามทุกคำถามที่พรรคได้ถามมา เพราะช่วงนี้ใกล้เลือกตั้งแล้ว แต่คงไปตอบไม่ได้ว่าอะไรทำได้- ทำไม่ได้ เป็นดุลพินิจของผู้สมัครและพรรคการเมืองเอง

ส่วน พลเอกประยุทธ์สามารถไปช่วยพรรคหาเสียงหลังเลิกงานได้หรือไม่ คงต้องดูเป็นกรณีไป ต่ต้องระมัดระวังตามมาตรา 78 รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรของรัฐ ทั้งรถและเจ้าหน้าที่ เพราะต้องวางตัวเป็นกลาง

ส่วนกรณที่มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการหาเสียงของ พลเอกประยุทธ์จำนวนมาก พ.ต.อ.จรุงวิทย์ บอกว่า ไม่หนักใจ เพราะ กกต.ยึดกฎหมายเป็นหลักด้วยความเป็นกลางเพราะเราเป็นองค์กรอิสระ ไม่ขึ้นอยู่กับอำนาจใด

สำหรับความเคลื่อนไหวของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวานนี้ ไม่ได้เดินทางเข้ามาปฏิบัติภารกิจภายในทำเนียบรัฐบาลแต่อย่างใด โดยนายกฯได้ลาป่วย และไม่มาทำงานที่ทำเนียบเป็นวันแรก หลังจากเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ได้เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลเร็วกว่าปกติ แจ้งเพียงว่าไปภารกิจส่วนตัว (ว.5)

ขณะที่ พลโทวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ ได้ลาป่วยวันที่ 1 มี.ค. เพื่อตรวจสุขภาพทั่วไปตามปกติที่แพทย์ได้นัดไว้ รวมถึงตรวจสายตา

เนื่องจากช่วงลงพื้นที่ที่ผ่านมานายกฯ ได้บ่นอยู่ตลอดว่าเจ็บตา เพราะอ่านหนังสือมาก แต่ไม่น่ามีอะไรต้องกังวล ส่วนสภาพร่างกายด้านอื่นยังคงฟิตและแข็งแรงดี ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่

ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายกฯ จะกลับมาทำงานตามปกติวันจันทร์ที่ 4 มี.ค. โดยมีกำหนดการเป็นประธานในงานสัมมนาที่เมืองทองธานี

พลโท วีรชน ยังกล่าวถึงกรณีที่ กกต.มีหนังสือตอบคำถามพรรคพลังประชารัฐว่า พลเอกประยุทธ์สามารถร่วมกิจกรรมรณรงค์หาเสียงได้ว่า ยังไม่ได้มีโอกาสพูดคุยหรือสอบถามในประเด็นนี้กับนายกฯ

แต่ส่วนตัวมองว่าการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆนายกฯ จะพิจารณาตามความเหมาะสม ภายใต้กรอบของกฎหมาย การสื่อสารกับประชาชนไม่ว่าจะเป็นในช่วงเวลาปกติหรือช่วงที่มีการเลือกตั้ง ก็ยังคงเป็นเรื่องการทำงานดังเช่นทุกครั้งอยู่แล้ว ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตการเปลี่ยนสถานะในเฟซบุ๊กส่วนตัวของ พลเอกประยุทธ์ จากเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นบุคคลสาธารณะนั้น ตนไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องนี้

ด้านนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงว่า ขั้นตอนต่อไป กรรมการบริหารพรรคจะร่วมกันหารือกับนายกฯ อีกครั้งว่ากิจกรรมของพรรคอะไรบ้างที่ท่านจะมีส่วนร่วมได้

ส่วนจะเป็นกิจกรรมไหน และเมื่อไหร่นั้น เป็นขั้นตอนต่อไป ซึ่งต้องขอปรึกษากับทุกฝ่ายก่อน เพราะนายกฯ เองก็มีภารกิจมาก ทางพรรคจึงต้องดูและเลือกกิจกรรมที่ท่านทำแล้วเกิดประโยชน์จริงๆ กับพี่น้องประชาชน

ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ในเดือน มี.ค.นี้ โชคดีที่ กกต.ตอบกลับมาที่พรรคว่า "ลุงตู่"แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคสามารถลงพื้นที่และให้กำลังใจผู้สมัคร ส.ส.ได้

ทำให้ทุกคนมีกำลังใจและฮึกเหิมขึ้นอีก น่าจะทำให้คนที่ชื่นชอบผลงานของลุงตู่ ให้การสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคยิ่งขึ้น ทางพรรคมั่นใจว่าน่าจะได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 150 คน เพราะช่วงที่ผ่านมาแค่คนที่รัก"ลุงตู่"ในทุกโพล ก็มีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 26-30 ถ้าพรรคสามารถเปลี่ยนความรักที่ประชาชนมีให้กับลุงตู่ เป็นคะแนนเสียงได้ และรวมกับคนที่ชอบนโยบายของพรรคชอบผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ก็เชื่อว่าเราจะได้ ส.ส.ตามเป้าอย่างแน่นอน

มีรายงานว่า พรรคพลังประชารัฐ เตรียมให้พลเอกประยุทธ์ลงพื้นที่และปราศรัย ประเดิมที่แรกในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายกฯ ในวันที่ 10 มี.ค. จากนั้นจะเดินทางไปจังหวัดเชียงรายและจังหวัดสุโขทัย ในช่วงกลางเดือน มี.ค. ตามลำดับ

โดยแนวทางทั้งหมดนี้กำลังเสนอแผนและรอการตัดสินจาก พลเอกประยุทธ์อีกครั้ง

ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อกกต.ประกาศแล้วว่า พลเอกประยุทธ์สามารถช่วยหาเสียงให้กับพรรคพลังประชารัฐได้ พลเอกประยุทธ์ก็ควรที่จะก้าวออกมาอย่างสง่างาม และลงพื้นที่หาเสียงเฉกเช่นนักการเมืองทุกพรรค ไม่ใช่มาอ้างว่า ตรวจราชการหรือลงพื้นที่ทำงาน

แต่แฝงด้วยการหาเสียงช่วยผู้สมัครของพรรค และที่สำคัญคือการใช้อำนาจในการเป็นนายกฯ และหัวหน้า คสช.ในการพยายามสกัดกั้นต่างๆ จนทำให้พรรคการเมืองต่างๆ นั้นดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ไม่เต็มที่

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีที่กกต.ประกาศชัดเจนแล้วว่า พลเอก ประยุทธ์ สามารถลงพื้นที่ช่วยพรรคพลังประชารัฐหาเสียงได้นั้น มองว่า เป็นเรื่องที่ดีเพราะถ้าลงมาช่วยหาเสียงก็จะมีความเท่าเทียมกัน แต่ต้องระวังเรื่องการใช้อำนาจรัฐเข้ามาเอื้อประโยชน์ด้วย

ส่วนกรณีที่พลเอกประยุทธ์ ไม่กล้ามาขึ้นเวทีดีเบตก็เป็นเรื่องส่วนตัว เพราะไม่มีข้อห้ามอะไร ส่วนจะกลัวตอบคำถามบนเวทีดีเบตหรือไม่นั้น ก็ต้องไปถาม พล.อ.ประยุทธ์เอง ตอบแทนไม่ได้

ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว พลเอกประยุทธ์ได้ช่วยพรรคพลังประชารัฐหาเสียงทุกวันอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะเวลาการรณรงค์หาเสียงที่เป็นอยู่ในขณะนี้เท่านั้น

เพราะการพูดผ่านรายการคืนความสุขฯ หรือการกระทำการใดๆ ยิ่งกว่าการหาเสียงที่ทุกพรรคการเมืองเดินมายกมือไหว้ขอคะแนนจากประชาชนในพื้นที่อีก จึงไม่มีเรื่องอะไรที่น่าตกใจ

แต่วันนี้อยากถามว่า พลเอกประยุทธ์ เป็นบุคคลสาธารณะหรือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะหากไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ประเทศคงวุ่นวาย และคงไม่มีบุคคลสาธารณะที่ไหนจะไปสั่งการบริหารประเทศได้

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า ยิ่ง พลเอกประยุทธ์ ออกมาช่วยหาเสียง จะยิ่งเป็นงานง่ายของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และพรรคการเมืองอื่นๆ ที่จะต่อสู้กันอย่างเปิดเผยภายใต้หลักการประชาธิปไตย

ส่วนคำอธิบายของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เกี่ยวกับประเด็นที่อ้างว่า หัวหน้าคสช.ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐนั้น นายณัญวุฒิ จะตอบว่า อย่างไร ไปฟังจากเสียงกันครับ

ส่วนนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านการคอร์รัปชัน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว "วีระ สมความคิด" ระบุว่า ขอเตือนด้วยความหวังดี หาก กกต. ยังรับรองว่าพลเอกประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ขาดคุณสมบัติในการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีกกต.อาจมีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา157

การที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เอามติ ของ ป.ป.ช. มาอ้างว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นองค์กรชั่วคราว ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 4 นิยามความหมายของเจ้าหน้าที่รัฐไว้อย่างชัดเจน

ซึ่งพลเอกประยุทธ์ เป็นผู้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้อำนาจและหน้าที่แก่หัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจทางปกครอง(อำนาจรัฐ) ทำการสั่งระงับและพักราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกจำนวนมาก

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างไม่ต้องสงสัย และหากนายวิษณุ ยังยืนยันว่าหัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ จะให้เชื่อว่า หัวหน้า คสช. เป็นเจ้าหน้าที่ของเอกชน หรือนายทุนคนใดใช่หรือไม่
(นายทุนคนใด)ใช่หรือไม่?

"พลังประชารัฐ" วางคิว "พล.อ.ประยุทธ์" ช่วยหาเสียงที่โคราช 10 มี.ค.