ประเทศซาอุดีอาระเบียออกกฎหมายใหม่ ห้ามสามีหรือภรรยาสอดส่องข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของอีกฝ่าย โดยผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษปรับสูงถึง 500,000 ซาอุดิริยาล (4 ล้านกว่าบาท) และจำคุกถึง 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานจากกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ว่า กฎหมายฉบับใหม่มีจุดหมายเพื่อ "ปกป้องศีลธรรมของบุคคลและสังคม และคุ้มครองความเป็นส่วนตัว" การลงโทษจะบังคับกับคู่สมรสทั้งชายและหญิง ในราชอาณาจักรอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว จากการแถลงของกระทรวงวัฒนธรรมซาอุดีอาระเบีย เมื่อคืนวันจันทร์

แต่ฝ่ายวิจารณ์กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีแนวโน้มปกป้องสามีจากภรรยา กฎหมายหย่าของซาอุฯ ก็เหมือนกับหลายส่วนของโลกมุสลิม ที่ได้แรงบันดาลใจจากคัมภีร์ศาสนา ที่มักกำหนดให้ฝ่ายภรรยาที่เรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดู ต้องแสดงหลักฐานความผิด หรือความสำส่อนทางเพศของสามี ซึ่งโทรศัพท์มือถือของสามีคือแหล่งข้อมูลชั้นดีที่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยกฎหมายต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์ (Anti-Cybercrime Law) กำหนดให้ "การล้วงข้อมูล การดักฟัง หรือการรับข้อมูลโดยผ่านเครือข่ายข่าวสารหรือคอมพิวเตอร์ โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย" ถือเป็นความผิดอาญา ผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษปรับจำนวน 500,000 ซาอุดิริยาล (ประมาณ 4,142,560 บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

แถลงการณ์ของกระทรวงวัฒนธรรมฯ ระบุอีกว่า สื่อสังคมออนไลน์ก่อให้เกิดอาชญากรรมไซเบอร์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การกรรโชกทรัพย์ ฉ้อโกง และหมิ่นประมาท นอกเหนือจากการเจาะล้วงข้อมูลในบัญชีส่วนตัว

ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ประเทศเพื่อนบ้าน เตรียมออกกฎหมายใหม่คล้ายกัน โดยกำหนดโทษผู้ฝ่ายฝืนจำคุกไม่เกิน 3 เดือน และปรับ 3,000 เดอแรม (ประมาณ 25,447 บาท) หลายประเทศร่ำรวยน้ำมันและประชาชนคลั่งไคล้เทคโนโลยีในตะวันออกกลาง อยู่ในกลุ่มผู้ใช้โซเชียล มีเดีย มากที่สุดในโลก แต่คุณค่าตามประเพณีนิยมยังคงมีอิทธิพลในสังคมของประเทศ แม้แต่ในศาลยุติธรรม