"นายพรเพชร วิชิตชลชัย" เผย สนช.30 คน เตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมาย ส.ว.ในวันที่ 19 มี.ค.นี้ เชื่อศาลใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 1 เดือน ไม่ส่งผลเลื่อนเลือกตั้ง

"พรเพชร"เผย30สนช.เสนอชื่อยื่นศาลตีความร่างกฎหมายส.ว.19มี.ค.

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึงการยื่นร่างกฎหมายส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ขณะนี้มีสมาชิก สนช.กว่า 30คนเสนอชื่อมายังตนแล้ว นำโดย นายกิตติ วะสีนนท์ เป็นผู้รวบรวมรายชื่อ คาดว่า จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายวันที่ 19 มีนาคมนี้

โดยเชื่อมั่นว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยได้ภายเวลาไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งยังอยู่ในช่วงเวลา 90 วัน เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ทักท้วง และเพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ เพราะหากมีใครไปยื่นให้ศาลตีความ หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้จะทำให้กฎหมายต้องล้มทั้งฉบับได้

ประธานสนช.ยันไม่ยื่นตีความกฎหมายส.ส.

นายพรเพชร กล่าวต่อว่า ส่วนร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ทางสนช.ทั้งหมดยืนยันว่า ใน 2 ประเด็นที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ทักท้วง ทั้งการตัดสิทธิการเป็นข้าราชการการเมือง หากไม่ไปเลือกตั้ง และให้มีผู้ช่วยเหลือผู้พิการในขณะเข้าหูหาเลือกตั้งนั้น ไม่มีเนื้อหาส่วนใดที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่อาจขัดต่อเจตนารมณ์ของผู้ร่าง คือ กรธ.เท่านั้น ซึ่งหาก สนช.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายส.ส. จะกระทบต่อโรดแม็ปเลือกตั้งแน่นอน เพราะต้องรอจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมา

ยืนยันว่า สนช.จะไม่ยื่นตีความ ร่างกฎหมาย ส.ส. และจะส่งร่างกฎหมาย ไปให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอย่างช้าภายในวันที่ 19 มี.ค.เช่นกัน

วิปสนช.เชื่อตีความร่างกฎหมายส.ว.ไม่เกิน 3 เดือน-ไม่ถูกตีตกทั้งฉบับ

ด้านนายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิปสนช. กล่าวว่า เชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญคงใช้เวลาวินิจฉัยร่างกฎหมายส.ว.ไม่เกิน 3 เดือน ยืนยันว่า ประเด็นในบทเฉพาะกาลที่ยื่นให้ศาลตีความ ไม่ใช่สาระสำคัญ ไม่ได้อยู่ในบทหลักของร่างกฎหมาย หากศาลเห็นว่าประเด็นใดขัดรัฐธรรมนูญก็แก้ไขเฉพาะประเด็นนั้น ไม่มีผลให้กฎหมายตกทั้งฉบับ ดังนั้น ขอให้นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ไปอ่านกฎหมายใหม่ จะไปจินตนาการมากไม่ได้

"สมชัย"มั่นใจยื่นตีความกฎหมายลูก ทำเลื่อนเลือกตั้งออกไป 6 เดือน

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กล่าวถึงกรณีที่สนช.เตรียมยื่นให้ศาลตีความร่างกฎหมายส.ว.ว่า ขณะนี้ทุกอย่างได้ผ่านกกต. และกรธ. ไปแล้ว สิ่งที่ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. จะทำได้ก็มีเพียงแค่การบ่นอย่างเดียว เพราะอำนาจการยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นของ สนช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่า หากท้ายที่สุด สนช. ยื่นตีความร่างกฎหมายส.ว.เพียงฉบับเดียว ก็จะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปนานถึง 6 เดือน

หากมีฝ่ายใดระบุว่า การยื่นร่างกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะไม่กระทบกับโรดแมปการเลือกตั้งนั้น ขอท้าให้บุคคลดังกล่าวให้ทำสัญญาต่อประชาชนด้วยว่าถ้าโรดแมปเลื่อนจริง จะไม่รับเงินเดือนในช่วงที่เลื่อนเลือกตั้งออกไปหรือไม่

"วิรัตน์"หวั่นร่างกฎหมายส.ว.ถูกตีตกทั้งฉบับต้องร่างใหม่

ส่วน นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลและ สนช.ต่างระบุว่า แม้ส่งร่างกฎหมายให้ศาลตีความ ก็จะไม่มีผลกระทบต่อโรดแมปจัดเลือกตั้ง

แต่ถามว่า ถ้าหากศาลรับเรื่องไว้วินิจฉัยนั้น ไม่มีใครกล้ายืนยันชัดเจนว่า ศาลจะใช้เวลาวินิจฉัยนานเท่าใด เพราะหากศาลวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายนี้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจริง จนมีผลทำให้ต้องกลับมาร่างใหม่ทั้งฉบับ จะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่

"สมคิด"ชี้สนช.-กรธ.ยื่นตีความกฎหมายลูก หวังยื้อเลือกตั้ง 

ด้านนายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในเมื่อ สนช.กับ กรธ.ล้วนถูกแต่งตั้งจากคสช.เหมือนกัน จึงไม่เข้าใจว่า ก่อนร่างกฎหมาย ทำไมไม่พูดคุยกันให้ดีก่อน ขณะที่ สนช.ก็โหวตผ่านร่างกฎหมาย ทั้งที่รู้ว่า อาจจะเป็นปัญหา

ทำให้คนยิ่งมองว่า เหมือนอีกคนเสิร์ฟ อีกคนตบกันหน้าเน็ต เพื่อยื้อการเลือกตั้งออกไป ยิ่งทำไป ประชาชนยิ่งไม่เชื่อมั่น

"พรเพชร" เผย 30 สนช.เตรียมยื่นตีความร่างกฎหมาย ส.ว. 19 มี.ค.