ที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายนัดแรกเพื่อพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายส.ส.และ ส.ว.ได้ข้อสรุปปรับแก้ใน 3 ประเด็น คือ 1.ยกเลิกไม่ให้จัดมหรสพหาเสียง 2.ค้านตัดสิทธิ์ผู้ไม่ไปเลือกตั้งห้ามเป็นข้าราชการ และ 3. คืนอำนาจให้กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

มติกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายปรับแก้กฎหมายส.ส.ยกเลิกจัดมหรสพหาเสียง

วานนี้ (19ก.พ.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายนัดแรก เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายส.ส. และร่างกฎหมายส.ว.

ภายหลังการประชุม นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ในส่วนของร่างกฎหมายส.ส. ที่ประชุมได้ข้อยุติในประเด็นความเห็นแย้งเรื่องการจัดมหรสพ โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เห็นชอบให้งดจัดมหรสพ และให้กลับไปใช้ตามร่างเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอว่า ไม่ให้จัดมหรสพในการหาเสียง

เนื่องจากอาจเกิดปัญหาการกำหนดค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร และความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้สมัครพรรคใหญ่กับพรรคเล็ก

พร้อมยังไม่เห็นด้วยกับกรณีที่ ตัดสิทธิผู้ที่ไม่ไปเลือกตั้ง ห้ามเป็นข้าราชการการเมือง ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือให้ไปปรับแก้อีกครั้งไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ

กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายคืนอำนาจกกต.ยื่นศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

ส่วนการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายร่างกฎหมายส.ว.นั้น ที่ประชุมนัดแรกมีมติเอกฉันท์ในประเด็นที่ กกต.ได้โต้แย้ง ที่ตัดสิทธิอำนาจ กกต.ในการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยให้กลับมาตามร่างเดิม ที่ให้อำนาจ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้

โดยยังเหลืออีก 3 ประเด็นที่กรธ.โต้แย้ง คือ จำนวนกลุ่มอาชีพที่ลดลงเหลือ 10 กลุ่ม จากเดิม20กลุ่ม การแบ่งประเภทสมัคร และการยกเลิกการเลือกไขว้ โดยให้เลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งจะพิจารณาในการประชุมครั้งถัดไป

ยืนยันว่า คณะกรรมาธิการร่วมทั้ง 3 ฝ่ายไม่มีความขัดแย้งกัน ทุกอย่างพูดคุยกันไปตามเหตุและผล

"สามารถ"เชื่อเลือกตั้งในปี 62 ยกเว้นมีเหตุแทรกซ้อนอาจยืดเยื้อไปปี 63

ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงปัจจัยในการเลื่อนเลือกตั้งจากโรดแมปเดิมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ว่า เดิมตามโรดแมปต้องมีการเลือกตั้งในปลายปีนี้ แต่เมื่อเลื่อนบังคับใช้กฎหมายส.ส.ออกไป 90 วัน ทำให้การเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปจากเดิม เป็นช่วงต้นปี 62

จึงคิดว่า น่าจะมีการเลือกตั้งภายในปี 62 แและไม่น่าจะยืดเยื้อไปจนถึงปี 63 ได้ ยกเว้นว่า จะไม่มีเลือกตั้ง หรือ มีเหตุแทรกซ้อน เช่น การปฏิวัติซ้อน

"นิพิฏ์"ชี้เลื่อนเลือกตั้งขึ้นอยู่กับหัวหน้าคสช.

ขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า  ร่างกฎหมาย ส.ส. และร่างกฎหมายส.ว. ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปได้ แต่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความความพอใจของหัวหน้า คสช.เพียงผู้เดียวมากกว่า เพราะตอนนี้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจเพียงคนเดียว

มติกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายปรับแก้กฎหมายส.ส.ยกเลิกจัดมหรสพหาเสียง