ความคืบหน้ากฎหมายลูก 2 ฉบับ ที่จะปูทางไปสู่เลือกตั้ง ล่าสุดทางกรธ.มีมติทำความเห็นโต้แย้งกฎหมายส.ส.และส.ว.รวม 7 ประเด็น เตรียมกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายหาข้อสรุป ด้าน"นายวิษณุ เครืองาม"ยืนยันแก้กฎหมายลูกไม่กระทบโรดแม็ปเลือกตั้ง

"วิษณุ"ยันแก้กฎหมายลูกส.ส.-ส.ว.ไม่กระทบโรดแม็ปเลือกตั้ง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีอาจที่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เพื่อแก้ไขร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส.และส.ว.ว่า ตนยืนยันว่า แม้ว่า กฎหมายลูกจะแก้ไขมากเท่าไร หรือต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาพิจารณา ก็จะไม่มีผลต่อโรดแมปเลือกตั้ง

เพราะตามกรอบ ไม่ว่า จะแก้อย่างไรก็ต้องอยู่ในภายใน 15 วัน จึงไม่ได้มีปัญหาอะไร ซึ่งกระบวนการพิจารณากฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก่อนจะนำกฎหมายลูกขึ้นทูลเกล้าทุลกระหม่อมถวายในช่วงเดือนมีนาคม

ส่วนกรณีที่ฝ่ายการเมืองกังวลว่า การเลือกตั้งอาจถูกเลื่อนออกไป หากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายส.ส.และส.ว.ว่า การยื่นหรือไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ขึ้นอยู่กับว่า มีประเด็นอะไรที่สงสัยว่า จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่หากยื่นศาลตีความ อาจส่งผลกระทบให้โรดแมปช้าออกไปประมาณ 1-2 เดือน ขึ้นอยู่กับ
ความยากของประเด็น

มติกรธ.เห็นแย้งกฎหมายส.ส.-ส.ว.รวม 7 ประเด็น

ด้านนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า กรธ. มีมติ ทำความเห็นโต้แย้ง ร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับกลับไปให้ สนช. โดยร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.เห็นแย้ง 4 ประเด็นคือ 1.ตัดสิทธิ คนไม่ไปเลือกตั้ง ห้ามเป็นข้าราชการการเมือง  2.จัดมหรสพ เพราะจะเป็นปัญหาด้านกำหนดค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร  3.เวลาลงคะแนน ที่ สนช.แก้เป็นเวลา 07.00-17.00 น. เพราะจะเป็นปัญหากับผู้ปฏิบัติงาน และ 4.การลงคะแนน แทนผู้พิการทางสายตา

ส่วนร่างกฎหมาย ส.ว.เห็นแย้ง 3 ประเด็น คือ 1.ลดกลุ่มผู้สมัครส.ว.เหลือ10กลุ่มอาชีพ  โดย กรธ.ยืนยันให้มี 20 กลุ่ม ตามเดิม 2.การแยกประเภทผู้สมัครแบบอิสระและนิติบุคคล เพราะอาจขัดรัฐธรรมนูญ และ 3.วิธีเลือก ส.ว. ที่สนช.ให้เลือกกันเองภายในกลุ่มนั้น กรธ.ขอยืนยันให้ส.ว.เลือกไขว้ เพราะเป็นวิธีที่ป้องกันการฮั้วลงคะแนนได้ดีกว่าเลือกตรง

"อภิสิทธิ์"ห่วงนายกฯใช้เทคนิคเลื่อนเลือกตั้งอีก 

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่แน่นอนว่า รัฐบาลจะใช้เทคนิคใดเพื่อยืดเวลาเลือกตั้งหรือไม่ เพราะหัวหน้าคสช.สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ตลอดเวลา ซึ่งหัวหน้า คสช.ควรพูดให้ชัดเจนว่ามีความประสงค์อย่างไร และหากมีอะไรเปลี่ยนแปลง ต้องมีเหตุผลอธิบายต่อสังคม จะโยนให้เป็นเรื่องของสนช.อย่างเดียวไม่ได้ เพราะหาก หัวหน้า คสช.ไม่เห็นด้วยกับสนช. ก็มีอำนาจที่จะแก้ไขได้อยู่แล้ว

มติ กรธ.ทำความเห็นโต้แย้งกฎหมาย ส.ส.-ส.ว.