กรมเจ้าท่า ร่วมกับ ตำรวจท่องเที่ยว บังคับใช้กฎหมายเรืออย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการเดินทางเรือ หลังเกิดเหตุุเรือสปีดโบ๊ท 2 ลำ ชนกันบริเวณอ่าวสะปำ จังหวัดภูเก็ต

จากกรณีเหตุเรือสปีดโบ๊ท 2 ลำชนกัน บริเวณอ่าวสะปำ ปากทางเข้าท่าเทียบเรือรอยัลภูเก็ตมารีน่า ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา จนทำให้นักท่องเที่ยว และ ลูกเรือบาดเจ็บนับสิบคน ซึ่งเบื้องต้น ตั้งข้อหากัปตันเรือทั้ง 2 ลำ ว่า กระทำการโดยประมาททำให้เสียทรัพย์ และ มีผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ

วานนี้ (18 มกราคม) นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า พร้อมด้วย พลตำรวจตรี สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบเรือทั้ง 2 ลำ โดยเรือสตกมล 333 ซึ่งจอดเก็บอยู่ภายในพื้นที่ของโบ๊ทลากูนมารีน่าภูเก็ต

ตรวจสอบ พบว่า กาบเรือด้านซ้ายได้รับความเสียหายอย่างหนักไม่สามารถลอยน้ำได้ แต่เครื่องยนต์ไม่ได้รับความเสียหาย คาดว่าต้องใช้เวลาซ่อมแซม ประมาณ 1 เดือน และ ต้องใช้เงินค่าซ่อมไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาท ขณะที่เรือพิมพ์รชา 5 ที่จอดลอยลำอยู่ในจุดจอดเรือ มีเพียงรอยถลอกเล็กน้อยเท่านั้น

จากนั้นได้ประชุมร่วมกับ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อเน้นย้ำมาตรการด้านการท่องเที่ยวทางน้ำในพื้นที่ จังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต

นายจิรุตม์ อธิบดีกรมเจ้าท่า บอกว่า การเดินทางมาครั้งนี้ เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งพังงา กระบี่ และ ภูเก็ต ซึ่งมีเรือสปีดโบ๊ทเป็นจำนวนมาก โดยมีเรือดังกล่าวที่จดทะเบียนกว่า 1,800 ลำ 

ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจ และ ความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการ จึงมีการบูรณาการร่วมกับตำรวจท่องเที่ยว และ ตำรวจในพื้นที่

รวมถึงการพูดคุยกับผู้ประกอบการ เพื่อให้ระมัดระวังในการให้บริการ ซึ่งในส่วนของเรือนั้นจะต้องตรวจสภาพเรือปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และให้เกิดความปลอดภัย

หลังจากนี้จะมีการตรวจเข้มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาพตัวเรือ  ใบประกาศ  นายท้ายเรือ รวมทั้งจัดให้มีการอบรมพนักงานเรือให้มากขึ้น

ด้าน พลตำรวจตรี สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว บอกว่า สิ่งสำคัญนอกจากเรื่องเรือ คือ เรื่องคน ดังนั้นผู้ประกอบการเรือจะต้องมีความรับผิดชอบ และ มีจิตสำนึกในการจ้างคนขับเรือที่มีประสบการณ์

หลังจากนี้ไป ต้องบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดทุกส่วน ทั้งเรื่องคน / เรื่องเรือ โดยกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวจะบูรณาการกับกรมเจ้าท่า ตำรวจพื้นที่ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจเรือในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญทางทะเลทุกจังหวัด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นให้ได้

กรมเจ้าท่า-ตำรวจท่องเที่ยวบังคับใช้กฎหมายเรือจริงจัง ป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำ