คพ.ติดตามการระบายน้ำออกพื้นที่เก็บกักน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำ ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 13 ทุ่ง จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าตั้งแต่ช่วงอำเภอบางไทร มีปริมาณออกซิเจนละลาย (DO) อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ กระทบต่อสัตว์น้ำ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมตลอดริมลำน้ำและคลองย่อยใกล้เคียงให้ลดการระบายน้ำทิ้งในห้วงระยะเวลานี้

นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า คพ.ได้ติดตามเฝ้าระวังการระบายน้ำออกจากทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งใช้เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ทั้ง 13 ทุ่ง โดยเริ่มจากทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก เป็นทุ่งแรก ปัจจุบันทุ่งบางระกำได้หยุดการระบายน้ำออกจากทุ่งแล้ว ในส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอีก 12 ทุ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ใต้จังหวัดนครสวรรค์ลงมา ได้แก่ ทุ่งเชียงราก จ.สิงห์บุรี ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก(สิ้นสุดการระบาย) ทุ่งท่าวุ้ง จ.ลพบุรี(สิ้นสุดการระบาย) ทุ่งบางกุ่ม (สิ้นสุดการระบาย) ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งป่าโมก จ.อ่างทอง ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และทุ่งรังสิตใต้ จ.ปทุมธานี ปัจจุบันมีระบายน้ำออกจากทุ่งไปแล้วรวม 1,266 ล้าน ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คงเหลือปริมาณน้ำในทุ่งที่จะต้องระบายรวมกันออกอีกประมาณ 128 ล้าน ลบ.ม.

โดยจะคงปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไว้ในแต่ละทุ่ง รวมกันประมาณ 346 ล้าน ลบ.ม. และใช้ระบบชลประทานในพื้นที่เก็บกักน้ำไว้ เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ในการเตรียมแปลงเพาะปลูกพืชช่วงฤดูแล้งได้อย่างเพียงพอ และขณะนี้ ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก และทุ่งบางกุ่ม ได้หยุดการระบายน้ำออกจากทุ่งแล้ว เนื่องจากปริมาณน้ำในทุ่งอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับให้เกษตรกรในพื้นที่ใช้ในการเตรียมแปลงเพาะปลูกพืช ส่วนทุ่งที่เหลือคาดว่าจะสามารถระบายน้ำออกจากทุ่งได้ตามแผน ประมาณกลางเดือนธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นไปตามที่กรมชลประทานได้กำหนดไว้ ในการระบายน้ำออกจากทุ่งทั้ง 12 ทุ่ง กรมชลประทานได้ระบายน้ำผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และระบบชลประทานเป็นหลัก ก่อนระบายออกสู่ทะเลต่อไป

นางสุณี กล่าวว่า จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ระบายน้ำ ณ วันที่ 13 ธ.ค.2560 เวลา 8.00 น. โดย คพ.และการประปานครหลวง พบว่าปริมาณออกซิเจนละลาย (DO) อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ ตั้งแต่ช่วงอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงมา ดังนี้ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท 3.7 มิลลิกรัมต่อลิตร (มก./ล.) อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2.8 มก./ล. อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 0.9 มก./ล. อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี 1.3 มก./ล. จุดสูบน้ำดิบสำแล จังหวัดปทุมธานี 1.1 มก./ล. อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี 0.9 มก./ล. และสะพานพระนั่งเกล้า อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 0.7 มก./ล.ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ ทำให้ปลาและสัตว์น้ำลอยหัวขึ้นสู่ผิวน้ำ ทั้งนี้ ในการแก้ไขปัญหาจะต้องเพิ่มการระบายน้ำเพื่อเจือจางน้ำเสีย โดยวันนี้ สำนักงานชลประทานที่ 11 ได้ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นเป็น 140 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเมื่อวาน 126 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และระบายจากเขื่อนพระรามหก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 77.95 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเมื่อวาน 80.82 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

คพ.จึงขอแจ้งเตือนให้เตรียมรับสถานการณ์ โดยมีพื้นที่ที่อาจมีผลกระทบเพิ่ม ได้แก่พื้นที่จังหวัดปทุมธานีและจังหวัดนนทบุรี และสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังให้ทำการคัดเลือกสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ออกจำหน่ายก่อน เฝ้าระวังสังเกตอาการของสัตว์น้ำ หากสัตว์น้ำลอยหัวเป็นเวลานานให้ใช้ปั๊มน้ำหรือปั๊มลมเติมออกซิเจนโดยด่วนและลดปริมาณการให้อาหาร หากมีสัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมากให้นำมาแปรรูปหรือกำจัดโดยการฝังกลบห้ามทิ้งลงในแหล่งน้ำ และขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมตลอดริมลำน้ำและคลองย่อยใกล้เคียงให้ลดการระบายน้ำทิ้งในห้วงระยะเวลานี้ พร้อมขอความร่วมมือหน่วยงานท้องถิ่นและประชาชนร่วมเฝ้าระวังการระบายน้ำจากแหล่งกำเนิดมลพิษ