กรณีครูและอดีตตำรวจ ต่างอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของ "ลอตเตอรี่รางวัลที่ 1" มูลค่า 30 ล้านบาท ถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีใครกล้าฟันธง ว่าใครพูดความจริง เราจะกลับมาไล่เรียงเวลาที่เกิดขึ้นของทั้งสองฝ่าย และประเด็น ที่ยังมีข้อสงสัยกัน

เรื่องนี้ยังต้องพิสูจน์ความจริงกันอีกยาวนาน เพราะทั้งฝ่ายอดีตตำรวจที่ไปขึ้นเงินที่กองสลากก็ยืนยันว่าเป็นเจ้าของตัวจริง ขณะที่คุณครูก็มีพยานหลักฐานแน่นหนา และคงไม่ยอมกันง่ายๆ

เริ่มจากฝ่ายของร้อยตำรวจโทจรูญ วิมูล อดีตตำรวจเกษียณราชการ และเป็นผู้นำสลากไปขึ้นเงินรางวัล ยืนยันหนักแน่นว่าตัวเองเป็นเจ้าของสลากตัวจริง โดยบอกว่าย้อนไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ประมาณสี่ถึงห้าโมงเย็น ไปซื้อลอตเตอรี่เลขท้าย 26 โดยไม่สนใจเลขตัวหน้าจำนวน 1 ชุด 5 ใบ เป็นเงิน 700 บาท ซึ่งในวันนั้นมีภรรยาไปด้วย

จากนั้น วันที่ 1 พฤศจิกายน รู้ตัวว่าถูกรางวัลที่ 1 แต่ไม่ได้ไปลงบันทึกประจำวัน เพราะไม่ต้องการเป็นข่าว 3 พฤศจิกายน จึงเดินทางไปที่กองสลาก พร้อมผู้จัดการธนาคารที่ไปเป็นพยาน ได้เงินรางวัลหลักภาษีแล้วเป็นเงินจำนวน 29,850,000 ล้านบาท และวันที่ 28 พฤศจิกายน ขณะกำลังถอนเงินไปซื้อรถให้ลูกสาวเป็นของขวัญวันเกิด จึงรู้ว่าถูกอายัดเงินรางวัลจำนวนกว่า 20 ล้านบาท ต่อมามี นายตำรวจคนหนึ่งเชิญตัวไปเจรจาให้ยอมความ ที่บ้านพักหลังหนึ่ง พร้อมยื่นข้อเสนอว่าให้แบ่งเงินคนละครึ่ง แล้วจะไม่เอาเรื่อง

ด้าน นายปรีชา ใคร่ครวญ ครูโรงเรียนเเห่งหนึ่งใน จ.กาญจนบุรี ให้ข้อมูลว่า ประมาณวันที่ 26 ตุลาคม แม่ค้าลอตเตอรี่โทรฯมาแจ้งว่าหาเลขท้าย 26 ให้ได้แล้ว ทั้งหมด 4 ชุด ชุดละ 5 ใบ โดยให้มาเอาที่ตลาดนัดเรสซิตี้ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ประมาณ 4 โมงเย็น และหลังเลิกจากการสอน อาจารย์จึงเดินทางไปรับลอตเตอรี่ตามที่นัดหมายไว้ แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านก็รู้ว่าลอตเตอรี่หายไป คาดว่าจะตกหล่นที่ตลาดนัดที่ไปซื้อของ กระทั่ง 1 พฤศจิกายน จึงรู้ว่าถูกลอตเตอรี่ แต่กลับทำหายไป จึงไปลงบันทึกประจำวันในวันที่ 2 พฤศจิกายน และวันที่ 3 พฤศจิกายน แจ้งให้กองสลากฯตรวจสอบ

คดีศึกชิงเงินรางวัลที่ 1 มูลค่า30 ล้านบาท ต้องยอมรับว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีข้อสงสัยและหลักฐานที่ชัดเจนมาหักล้างกันไปมา อัยการปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการฝ่ายชี้ขาดคดี ตั้งข้อสังเกตได้น่าสนใจว่าประเด็นการอายัดเงิน ไม่ได้อยู่ในอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่สามารถทำได้ในกระบวนการฟ้องศาล

ส่วนกรณีการเข้าจะนำทั้งสองฝ่ายเข้าเครื่องจับเท็จ เพื่อให้ข้อเท็จจริง  ปรากฎชัดมากขึ้น ประเด็นนี้อัยการปรเมศวร์ มองว่าเป็นวิธีการที่ล้าสมัย และไม่ใช่หลักฐานที่จะยืนยันข้อเท็จจริงในชั้นศาลได้ 

ส่วนประเด็นที่อ้างว่ามีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่มีส่วนรู้เห็นด้วย อัยการปรเมศวร์  ระบุว่า เรื่องนี้ยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงที่แน่ชัด แต่ก็เชื่อว่าไม่นานความจริงจะปรากฎ และสุดท้าย ต้องมีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างแน่นอน เพราะอย่างคดีดังที่ผ่านมาก็เป็นบทพิสูจน์ชัดแล้วว่าไม่เคยมีแพะในกระบวนการยุติธรรมไทย  

ถอดรหัส "คดีหวย 30 ล้าน" ใครเจ้าของตัวจริง