"พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ" ชี้โรดแม็ปเลือกตั้ง พ.ย.ปี 61 เป็นกรณีที่ไม่พบอุปสรรคใดๆ ในการร่างกฎหมายลูก พร้อมยอมรับ หากมีการยื่นศาลตีความกฎหมายลูก อาจทำให้วันเลือกตั้งเลื่อนออกไป ด้าน สนช.เตรียมหาข้อยุติกฎหมายตรวจเงินแผ่นดินในวันที่ 19 ต.ค.นี้

นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงว่า ในการประชุม สนช.วันที่ 19 ต.ค.นี้ จะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินในวาระ 2 และ 3 ซึ่งมีทั้งหมด 114 มาตรา คาดว่า น่าจะใช้เวลาพิจารณานานพอสมควร 

เพราะกฎหมายลูกฉบับนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสนช.มีความเห็นแตกต่างกัน โดยเฉพาะในมาตรา 7 เกี่ยวกับอำนาจผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในการเข้าไปตรวจสอบเจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) เพราะกรรมการธิการของสนช.ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และ เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเขียนเนื้อหาดังกล่าวไว้ แต่ยืนยันว่า เป็นเพียงความเห็นที่แตกต่างกันเท่านั้น ไม่มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง

นายแพทย์ เจตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีร่างกฎหมายลูกที่สนช.ยังไม่ได้พิจารณาอยู่3 ฉบับ คือ 1.ร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ซึ่งคาดว่า กรธ.จะส่งให้ประธาน สนช.หลังงานพระราชพิธี หรือวันที่ 31 ต.ค.นี้ 2.ร่างกฎหมาย ส.ว. ซึ่งกรธ.มีกำหนดส่งให้สนช.ในวันที่ 21 พ.ย. และ 3.ร่างกฎหมายส.ส. ซึ่งกรธ.จะส่งให้ในวันที่ 28 พ.ย.นี้

กรธ.ยันส่งร่างกฎหมายส.ว.ให้สนช. 21 พ.ย.ตามเดิม

ด้าน นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ.กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก โดย กรธ.ได้เชิญผู้แทนจากกกต.มาร่วมพิจารณาด้วยตลอด สาระสำคัญของกฎหมายอยู่ที่การเลือกตั้งไขว้ 20 กลุ่มอาชีพ โดยเริ่มตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับประเทศ ให้เหลือ 200 คน กระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลา 52 วัน ส่วนค่าสมัครยังคงเดิมอยู่ที่ 2,500 บาท โดยยืนยันจะส่งร่างกฎหมายส.ว.ให้กับ สนช.วันที่ 21 พ.ย.นี้ตามเดิม 

"พล.อ.ประวิตร"รับอาจเลื่อนเลือกตั้ง หากยื่นศาลตีความกฎหมายลูก 

ขณะที่พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ สนช.ระบุ หากกฎหมายลูก มีคนไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ อาจทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปเป็นกุมภาพันธ์ ปี 2562 ว่า หากมีใครยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมาย ก็จะทำให้โรดแม็ปช้าลงเป็นธรรมดา แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่า ใครจะยื่นศาลตีความ เมื่อยังไม่รู้ก็ไม่ต้องไปกังวล

ส่วนกรณีที่นายกฯระบุว่า จะมีการเลือกตั้งในเดือนพ.ย.ปี 61 นั้น เป็นโรดแม็ปการเลือกตั้ง กรณีไม่มีอุปสรรคอะไรเลย ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน แต่หากมีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้น ก็ต้องยืดไปตามห้วงระยะเวลา 

มีรายงานว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากสนช.เห็นชอบร่างกฎหมายลูกแล้ว คนที่จะมีสิทธิ์ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ คือ สนช.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือ นายกรัฐมนตรี เท่านั้นที่จะยื่นให้ศาลตีความได้ ส่วนองค์กรอิสระ และองค์กรอื่น ไม่มีสิทธิ์ยื่นให้ศาลตีความ

สนช.นัดถกกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดิน 19 ต.ค.นี้