กฎหมายลูกตรวจเงินแผ่นดิน กลายเป็นความขัดแย้ง ระหว่างกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ สนช. เมื่อสนช.เห็นต่างจากกรธ. เตรียมตัดเนื้อหาการให้อำนาจสตง.เข้าไปตรวจสอบเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. ล่าสุดทางสนช.ยังออกมายืนยันว่า ไม่ขอทบทวนตามข้อท้วงติงของกรธ. ชี้หากยังไม่ได้ข้อยุติ ต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายขึ้นมาหาข้อสรุป

นายแพทย์ เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และโฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่เห็นด้วยกับการที่กรรมาธิการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.การตรวจเงินแผ่นดิน กรณีตัดเนื้อหามาตรา 7 วรรคสาม เรื่องการให้อำนาจผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบเจ้าหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจิตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่กระทำทุจริตทิ้งไปนั้น

ถือเป็นความเห็นต่างที่ต้องไปพิจารณากันในที่ประชุม สนช.ว่า จะเห็นด้วยกับกรรมาธิการหรือไม่ แต่ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นความเห็นแย้งทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องข้อกฎหมาย ถ้า กรธ.ยังยืนกรานตามหลักการเดิม คงต้องตั้งกรรมาธิการร่วมขึ้นมาทบทวนเนื้อหาอีกครั้ง คาดว่า คงใช้เวลาไม่นานนัก ไม่น่าจะทำให้เสียเวลามากมาย

สนช.ยันไม่แก้กฎหมายลูกสตง.ตามข้อคัดค้านของกรธ. 

ด้านพลเรือเอก ยุทธนา ฟักผลงาม สมาชิกสนช. ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าว กรรมาธิการลงมติไปว่า ให้ตัดข้อความมาตรา 7 วรรคสามทิ้งทั้งหมด เพราะพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่า การให้ผู้ว่าฯสตง.เข้ามาไต่สวนเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ที่ทุจริตนั้น เป็นการก้าวล่วงอำนาจการทำงาน ป.ป.ช. ตามที่ ป.ป.ช.ท้วงติงมาจริง

และยังพบว่าเป็นการให้เลือกไต่สวน เฉพาะป.ป.ช.องค์กรเดียวเท่านั้น ขณะที่องค์กรอื่น สตง.ไม่สามารถเข้าไปไต่สวนทุจริตได้ ดังนั้นกรรมาธิการ มองว่า ถ้าจะให้ สตง.มีอำนาจเข้าไปไต่สวนการทุจริตได้ ต้องทำได้ทุกองค์กร ไม่ใช่เลือกเฉพาะ ป.ป.ช. จึงให้ตัดข้อความมาตรา 7 วรรคสามทิ้งทั้งหมด

แต่หากกรธ.ยืนกรานว่า ไม่เห็นด้วย และจะขอโต้แย้ง ก็ต้องตั้งกรรมาะการร่วม 3 ฝ่ายเพื่อหาข้อสรุปดังกล่าว

สำหรับการประชุม สนช.เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะมีการประชุมในวันที่ 19 ต.ค.นี้

กรธ.ยันร่างกฎหมายส.ส.-ส.ว.เสร็จทันตามกำหนด

ส่วนความคืบหน้าการจัดทำร่างกฎหมายลูกของกรธ. นายอมร วาณิชวิวัฒน์ กรธ. เปิดเผยว่า ในส่วนของร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ขณะนี้อนุกรรมการฯได้ยกร่างในเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอแค่ให้กรธ.พิจารณาต่อเท่านั้น ซึ่งกรธ.จะพิจารณา ต่อจากร่างกฎหมายลูกส.ว.ที่คาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นเดือนต.ค.นี้

ส่วนตัวคิดว่า ร่างกฎหมายการเลือกตั้งส.ส.ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรในการพิจารณา เพราะในชั้นอนุกรรมการฯที่ตนเป็นรองประธานนั้น ได้เชิญกกต.และผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมให้ข้อมูลตลอด จึงถือว่ารัดกุมและละเอียดมาก ดังนั้นเชื่อว่าการร่างกฎหมายลูกของกรธ.จะเสร็จทันตามกรอบเวลา240 วันและพร้อมส่งให้สนช.พิจารณาตามกำหนดในวันที่ 28 พ.ย.60 อย่างแน่นอน

สนช.ยันไม่แก้กฎหมายลูก สตง.ตามข้อคัดค้านของ กรธ.