นักการเมืองออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน ประเด็นเสนอให้มีการยุบพรรค หากมีการทุจริตไพรมารีโหวต ขณะที่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยอมรับหากเพิ่มโทษยุบพรรค อาจขัดรัฐธรรมนูญปี 60

 

กรธ.รับเพิ่มโทษยุบพรรคในไพรมารีโหวตขัด รธน.60

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง กรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เสนอปรับแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง เพิ่มโทษยุบพรรค หากมีการทุจริตไพรมารีโหวต ต่อคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ว่า กรธ.ไม่มีการคุยถึงเรื่องนี้  แต่สิ่งที่ กรธ.ได้เสนอไปต่อ กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย คือ เรื่องกระบวนการทำไพรมารีโหวตให้ถูกต้อง และ ไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง ตามที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.เคยให้สัมภาษณ์ไปก่อนหน้านี้แล้วว่า เรื่องของการทำไพรมารีโหวตว่าจะไม่มีโทษยุบพรรคการเมือง

ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่า หากไปเพิ่มโทษยุบพรรคในกรณีดังกล่าวจะขัดกับรัฐธรรมนูญ 60 ได้  เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดโทษของการยุบพรรคไว้ชัดเจนว่า มีเรื่องใดบ้าง เช่น การล้มล้างการปกครองหรือการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคง

 

"อภิสิทธิ์" ค้านยุบพรรค ปมทุจริตไพรมารีโหวต

ส่วนความเห็นนักการเมือง ในประเด็นเสนอเพิ่มโทษยุบพรรค หากทุจริตไพรมารีโหวต  โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า เป็นความพยายามที่จะเขียนให้กฎหมายให้มีผลบังคับ เพราะในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้

ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่า ควรกำหนดลงโทษกรรมการบริหารพรรคหรือหัวหน้าพรรค จะเป็นวิธีการที่ดีกว่าการยุบพรรค เนื่องเป็นการกระทำของบุคคล แต่หากจะนำไปสู่การยุบพรรค ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ยกเว้นพิสูจน์ได้ ซึ่งตนเองเสนอมาตลอดว่าควรลงโทษกรรมการบริหารพรรคแทนการยุบพรรค

 

"ชทพ." ค้านยุบพรรค ปมไพรมารีโหวต ส่อขัดรธน.

ด้าน นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) เชื่อว่า ประเด็นนี้ จะคลี่คลายไปตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ระบุไว้ เพราะเชื่อว่า การยุบพรรคด้วยเหตุที่มาจากกระบวนการทำไพรมารีโหวตนั้น อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น จึงเห็นว่า ควรออกเป็นระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ว่า สิ่งใดทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้ อย่าไปใส่ไว้เป็นส่วนหนึ่งของกฏหมายพรรคการเมือง เพราะจะแก้ไขยาก การออกเป็นระเบียบ กกต.จะสามารถปรับเปลี่ยนไปตามสภาพปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีกว่า

 

พท.ขวางกำหนดโทษ"ไพรมารีโหวต

ขณะที่ นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย เห็นว่า กระบวนการคัดเลือกผู้สมัครของพรรคการเมืองหรือไพรมารีโหวต เป็นกระบวนการภายในของแต่ละพรรค  ดังนั้นควรไว้วางใจการดำเนินการของกรรมการบริหารพรรคการเมืองต่างๆ

ทั้งนี้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่  การกำหนดบทลงโทษเช่นนี้เกินไปหรือไม่ ดังนั้นจึงอยากให้กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาให้รอบคอบเหมาะสม และอยากให้เริ่มที่การสนับสนุนส่งเสริมพรรคการเมือง มากกว่าการควบคุมลงโทษ

กรธ.รับเพิ่มโทษยุบพรรคในไพรมารีโหวตขัด รธน.60