"สมชัย ศรีสุทธิยากร"แนะทางออกที่ดีที่สุด กรณีความเห็นต่างเรื่องไพรมารีโหวตในร่างกฎหมายพรรคการเมือง ควรส่งให้รัฐธรรมนูญชี้ขาดว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ด้าน"นายมีชัย ฤชุพันธุ์"เผยอาจทำเรื่องโต้แย้งร่างกฎหมายพรรคการเมือง หลังกกต.ยังชี้แจงตอบำถามได้ไม่ชัดเจน ปมไพรมารีโหวต

 

"มีชัย" ชี้ กกต.อาจขัดรธน.หากตรวจ"ไพรมารีโหวต"

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรธ.อยู่ระหว่างศึกษาบทบัญญัติของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยพรรคการเมืองว่ามีปัญหาขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากนักการเมืองทั้งพรรคเล็ก และพรรคใหญ่ ออกมาคัดค้านระบบไพรมารีโหวต

แม้ตัวแทน กกต.ที่มาชี้แจงกับกรธ.บอกว่า ไพรมารีโหวต ไม่มีปัญหาในการปฏิบัติ แต่กรธ.ก็ยังไม่เข้าใจ และยังเห็นว่า ไพรมารีโหวต อาจมีปัญหาในการปฏิบัติ เพราะเมื่อ กรธ.ซักถาม ตัวแทนของ กกต.ก็ตอบไม่ได้  อีกทั้งการชี้แจงของ กกต.ยังไม่ชัดเจนเรื่องปัญหาในทางปฏิบัติแล้ว

และเรื่องดังกล่าวยังอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย โดยเฉพาะการตีความว่า ไพรมารีโหวต คือ การเลือกตั้ง เพราะถ้าไพรมารีโหวต คือ การเลือกตั้ง  กกต.จะมีอำนาจควบคุมแจกใบเหลืองใบแดงได้ แต่ถามกลับว่า หากเป็นการเลือกตั้ง ทำไม กกต.ไม่ไปจัดทำไพรมารีโหวต แต่กลับให้ พรรคการเมืองทำไพรมารีโหวตเอง

กรณีนี้หากเห็นปัญหาจริงๆ อาจจะทำเรื่องโต้แย้งกลับไป และตนจะเป็นตัวแทนของกรธ. ร่วมเป็นกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณากฎหมายลูกพรรคการเมือง

 

"สมชัย"แนะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ แก้ปมไพรมารีโหวต

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง กล่าวว่า ข้อกังวลต่างๆของนายมีชัยที่ระบุว่า ระบบไพรมารีโหวตอาจขัดรัฐธรรมนูญ และอาจทำให้พรรคการเมือง ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งไม่ทันนั้น ถือเป็นการนำประเด็น"ปริวิตก"มาเป็นประเด็นโต้แย้ง เพราะหากอ้างว่า ร่างกฎหมายพรรคการเมือง ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ  กกต. ก็คงอ้างได้เช่นกันว่า การเซ็ตซีโร่ กกต. ใหม่ทั้งหมด อาจทำให้การเลือกตั้งไม่ราบรื่น

การร่างกฎหมาย ควรนำเนื้อหามาประกบกับรายมาตราในรัฐธรรมนูญให้ได้ว่า ขัดในรัฐธรรมนูญมาตราใด มากกว่า ยกเหตุผลที่รับฟังไม่ขึ้นมากล่าวอ้าง  วันนี้การตั้งกรรมาธิการร่วมอาจไม่ใช่คำตอบ เพราะร่างกฎหมายผ่านสนช.ไปแล้ว  ทางออกที่ดีที่สุดที่ทำได้ คือ หากเห็นว่า ขัดรัฐธรรมนูญ ก็ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

 

ชทพ.-19พรรคเล็กยื่นค้าน"ไพรมารีโหวต"

ขณะเดียวกัน วานนี้ ที่รัฐสภา ตัวแทนพรรคการเมือง ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคการเมืองขนาดเล็ก 19 พรรค นำโดยพรรคประชาธิปไตยใหม่ เข้ายื่นข้อท้วงติงต่อร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

เพื่อขอให้ทบทวนบทบัญญัติของการเลือกตั้งขั้นต้น หรือ ไพรมารีโหวตเพราะมีปัญหาในทางปฏิบัติ และทำให้พรรคขนาดเล็กเสียเปรียบพรรคขนาดใหญ่ โดยขอให้ กรธ. รับความเห็นดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ร่วมกัน 3 ฝ่ายเพื่อให้แก้ไขในบทบัญญัติ

 

มติ กรธ.ส่ง"มีชัย"คุมทีม กมธ.ร่วมพิจารณาร่างกฎหมายกกต.

ขณะที่ นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. เปิดเผยว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ได้มีหนังสือลงวันที่ 26 มิถุนายน แจ้งว่า กกต. ได้มีหนังสือส่งเอกสารความเห็นว่า ร่างกฎหมาย กกต. ที่สนช.เห็นชอบ ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดให้สนช.ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา 1 คณะ รวม 11 คนประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง สมาชิกสนช.และกรธ. ฝ่ายละ 5 คน เพื่อพิจารณาและเสนอต่อสนช.ภายใน 15 วัน

โดยที่ประชุม กรธ.มีมติให้กรธ. 5 คน เข้าเป็นกรรมาธิการวิสามัญฯ ประกอบด้วย นายมีชัย ฤชุพันธุ์  นายประพันธ์ นัยโกวิท  นายปกรณ์ นิลประพันธ์  นายภัทระ คำพิทักษ์ และ นายศุภชัย ยาวะประภาษ ซึ่งทางวิปสนช.จะนำเรื่องดังกล่าวหารือในวันที่ 27 มิถุนายนนี้ เวลา13.30น.

มติ กรธ. ส่ง"มีชัย"คุมทีม กมธ.ร่วมพิจารณาร่างพ.ร.บ.กกต.