วิป สปท.เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ. ควบคุมสื่อฯ เข้าที่ประชุมสปท.ชุดใหญ่ 1 พฤษภาคมนี้ ขณะที่องค์กรสื่อ ย้ำจุดยืนไม่เอา ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อฯ เพราะเป็นการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร เตรียมยื่นหนังสือคัดค้านต่อ สปท.ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ด้วยเช่นกัน

นายคำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการและโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ (วิปสปท.) กล่าวว่า ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ที่ประชุม สปท.จะพิจารณารายงานการปฏิรูปของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อมวลชน คือ ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และร่างพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์

เมื่อถามว่า เนื้อหาของร่างกฎหมายคุมสื่อยังมีความเข้มงวดแต่เหตุใดยังนำกลับบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสปท.อีก นายคำนูณกล่าวว่า ที่ผ่านมาวิป สปท.ได้มีการพิจารณาแล้ว และมีมติให้นำกลับไปทบทวน 3-4 ประเด็น จากการหารือทางกรรมาธิการด้านสื่อฯ ยังคงยืนยันความเห็นเดิมว่า กรรมาธิการได้ มีการทบทวนแล้ว และยืนยันในประเด็นที่ พลอากาศเอกคณิต สุวรรณเนตร ประธาน กรรมาธิการด้านสื่อฯ กับ พลตำรวจตรีพิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธาน กรรมาธิการด้านสื่อฯ ได้ออกมาแถลงข่าว

ดังนั้น วิป สปท.จึงมีมติให้นำเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเพื่อให้สมาชิกได้แสดงความเห็นอย่างหลากหลายมากขึ้น ส่วนร่างกฎหมายจะถูกตีตกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

ขณะที่ พลอากาศเอกคณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการสื่อฯ สปท. เชื่อว่า สปท. จะให้ความเห็นชอบ ในการพิจารณา วันที่ 1 พฤษภาคมนี้

ทั้งนี้กระบวนการจัดทำกฎหมายฉบับนี้ยังมีหลายขั้นตอน ต้องผ่านรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ยังสามารถปรับแก้ไขเนื้อหาได้ แต่ยืนยันว่า เนื้อหาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เนื่องจากระหว่างจัดทำมีนักกฎหมายคอยดูแลอยู่ แต่หากมีเนื้อหาใดขัดรัฐธรรมนูญ ก็ปรับแก้ประเด็นที่ขัดได้

ที่ผ่านมาการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ในชั้นอนุกรรมาธิการมีกรรมาธิการที่มาจากสื่อมวลชนสนับสนุนให้มีการออกใบอนุญาตขึ้นทะเบียนสื่อเพราะมองว่ามีเกียรติและศักดิ์ศรีมากกว่าและการมีใบอนุญาตจะทำให้เกิดการกำกับกันเองได้ดี เพราะที่ผ่านมาสื่อมวลชนยังกำกับกันเองได้ไม่ดี

ดังนั้นการขอใบอนุญาตตามกฎหมายนี้ จึงเป็นการจัดระเบียบสื่อมวลชนเหมือนประเทศสิงคโปร์ที่มีการจัดระเบียบการนำเสนอข่าวสาร ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ มีความเจริญ ซึ่งต่างจากประเทศไทย

ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า การให้สื่อมวลชนต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่การครอบงำสื่อมวลชน เพราะประเทศไทยกำหนดให้อาชีพหลากหลายต้องออกใบอนุญาต เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่นั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่กรณีการตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้ประกอบอาชีพ แต่จะตรวจกรณีที่มาต่อใบอนุญาตเท่านั้น ว่ามีต้นสังกัดอยู่ที่ไหน มีรายละเอียดอย่างไร ซึ่งรัฐธรรมนูญได้เขียนว่าหากไม่จำเป็น ไม่ควรมีใบอนุญาต

ขณะเดียวกันปัจจบันสื่อมวลชนปัจจุบันก็มีสมาคม ดังนั้นควรรวมตัวกันเพื่อชี้แจงเหตุผลว่าทำไมไม่ควรมีใบอนุญาต และเสนอแนวทางของสื่อที่จะกำกับดูแลกันเอง โดยคนนอกไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว

ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวว่า ที่ประชุม สปท.ยังไม่ได้มาหารือในเรื่องนี้ เพียงแต่เป็นแนวทางที่ให้ไปศึกษาว่าในต่างประเทศมีการดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ไม่ได้โทษสื่อมวล ชนแต่เป็นเรื่องของคนไม่ดีบางส่วนที่ใช้สื่อหรือโซเชียลมีเดียให้เกิดปัญหา จึงต้องใช้หลักการพื้นฐานและมาตรฐานที่ต่างประเทศยอมรับ

ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ได้ปิดกั้นและขอสื่อช่วยหาทางออกว่าจะทำอย่างไร และให้สื่อเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ตกเป็นเครื่องมือของคนไม่ดี ย้ำว่ารัฐบาลมีความจำเป็น เพราะหลายอย่างเป็นกฎหมายซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ จะมองเพียงสิทธิเสรีภาพอย่างเดียวไม่ได้ จึงขอให้หาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่ค้านทุกเรื่อง เพราะรัฐบาลทำเพื่อทุกคน สื่อเองมีหลายอย่างไม่ถูกต้องโดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย หากไม่มีความรับผิดชอบประเทศก็มีปัญหา

เมื่อถามว่า เห็นด้วยกับร่างที่ สปท.เสนอหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่เห็นด้วย หากจะเห็นด้วยก็ต้องฟังประชาชนก่อน แต่สิ่งที่เห็นเป็นปัญหา คือ เมื่อเคยมอบความรับผิดชอบให้สมาคมสื่อฯ ไปแล้ว แต่สมาคมฯก็ยอมรับเองว่าทำไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้นทุกคนต้องยอมรับ ไม่ใช่จะมัวมาเกรงว่ารัฐบาลมาปิดกั้นสื่อ เพราะถ้าไม่มีสื่อตนเองก็ทำงานไม่ได้ เพราะสื่อเป็นผู้ขยายความเข้าใจให้ประชาชน

ส่วนความเคลื่อนไหวของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าว ฯ กล่าวว่า ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อจะเข้าไปยื่นหนังสือถึง สปท. เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เนื่องจาก ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหา ที่ยังมีตัวแทนจากรัฐเข้าไปนั่งในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าต้องการควบคุมสื่อ ปิดกั้นการรับข่าวสารที่รอบด้านของประชาชน

ส่วนที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่า สื่อควบคุมกันเองไม่ได้นั้น นายปราเมศ กล่าวว่า มีกฎหมายที่ปกป้องบุคคลที่สามอยู่แล้ว และยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ ที่สามารถจัดการกับสื่อที่มีพฤติการณ์เช่นนั้นได้

ที่สำคัญสื่อโซเชียลมีเดียมีการตรวจสอบที่เข้มข้น และทางองค์กรสื่อก็เสนอร่างกฎหมายประกอบ มีเนื้อหาให้คุมกันเองอย่างมีประสิทธิภาพเหมือนอารยประเทศ แต่ กรรมาธิการสื่อฯไม่หยิบยกขึ้นมาพิจารณา

 

วิป สปท. เร่งดัน กม.คุมสื่อ เข้าที่ประชุม 1 พ.ค.นี้