สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ใช้สโลแกน "หยุดตีทะเบียนสื่อ หยุดครอบงำสื่อมวลชน" วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกใน ปี 2560 พร้อมเดินหน้าคัดค้านกฎหมายควบคุมสื่อ ขณะที่ กรรมาธิการสื่อฯ สปท.เตรียม เสนอเข้าสภาพิจารณาต้นเดือนพฤษภาคมนี้

พลตำรวจตรีพิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยืนยันว่า จะเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ. ) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เข้าที่ประชุม สปท. ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้อย่างแน่นอน แม้จะถูกองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนคัดค้านอย่างหนักก็ตาม

และยืนยันว่า มีความจำเป็นต้องมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ และ สื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เพราะสื่อมวลชนไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ ที่ต้องมีใบอนุญาต เช่น อาชีพนวดแผนโบราณ ดังนั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน อาจกระทบวงกว้าง จึงจำเป็นต้องมีใบอนุญาต ซึ่งจะรวมถึงสื่อออนไลน์ หรือนำเสนอผ่านเพจเฟซบุ๊กที่มีรายได้ด้วย

พลตำรวจตรี พิสิษฐ์ ยังกล่าวว่า สำหรับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ที่ปรับเพิ่ม ประเด็นบทลงโทษ กรณีหากนักข่าวไม่ไม่มีใบอนุญาต ตามเวลาที่กำหนดจะมีความผิด จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท รวมถึงองค์กรสื่อที่รับนักข่าวที่ไม่มีใบอนุญาตมาทำงานก็จะมีความผิดจำคุกและปรับเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้นักข่าวที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตและถูกไล่ออกไปทำงานอีก

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ข้อกังวล ที่อาจกระทบเสรีภาพในการทำงานของสื่อ ว่า รัฐบาลต้องรอให้ สปท.เสนอ ร่าง พ.ร.บ.มาก่อน แล้วรัฐบาลค่อยดูเนื้อหา เพราะรัฐบาลก็มีจุดยืนของตัวเอง แต่ไม่กล้าตอบว่าคืออะไร ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะขัดกับมาตรา 35 ในรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามริดรอนเสรีภาพสื่อมวลชนนั้น ถ้าขัดก็ใช้ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อจะทำทั้งทีต้องให้ดี ไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก่อนที่ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน จะออกเป็นกฎหมาย จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่ามีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร และเห็นว่า ไม่ว่าจะทำงานอะไรอาชีพอะไรในประเทศไทย ทุกคนมีสมาคมที่เป็นองค์กรอาชีพนั้นๆ อยู่แล้ว

และต้องถามประชาชนว่า พึงพอใจต่อการทำงานของสื่อมวลชนมากแค่ไหน ซึ่งเสียงสะท้อนเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้สื่อฯ ต้องเร่งปรับปรุงตัวเองเหมือนกับหน่วยงานราชการทุกหน่วยหรือทุกองค์กร ที่ทุกคนต้องปรับปรุงตัวให้ตอบรับกับยุคสมัย ความต้องการของประชาชน และการพัฒนาประเทศ

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของนักการเมือง ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติม ต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ของกระทรวงกลาโหม หลังตรวจสอบผลสรุป เวทีรับฟังความคิดเห็นขององค์กรสื่อก่อนหน้านี้

นายนิกร จำนง ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา และสมาชิกสปท. เสนอว่า รัฐไม่ควรยุ่งกับสื่อ ควรมีหลักประกันเสรีภาพของสื่อ และเรื่องการออกใบอนุญาต จะเกิดปัญหาความขัดแย้งตามมา พร้อมกับเสนอว่า การกำกับดูแลสื่อฯ ควรใช้หลักไตรลักษณ์ คือรัฐเข้ามาดูแลได้ ให้สื่อดูแลตัวเองไม่ให้ละเมิดประชาชน และ ประชาชนก็ช่วยดูแลสื่อไม่ให้รัฐกระทำ

ขณะที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่ม นปช. เสนอเพิ่มเติมว่า ให้หน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐ ไม่ควรมีอำนาจออกหรือยกเลิกใบอนุญาตสื่อ

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. เสนอว่า รัฐต้องปรับทัศนคติในการแก้ปัญหาการรับรู้ของประชาชน การควบคุมสื่อ จะยิ่งเพิ่มปัญหาให้กับรัฐเอง โดยเฉพาะสื่อโซเชียล ฟซบุ๊กไลฟ์ เพราะรัฐยิ่งปิดสื่อหลักคนก็จะหันไปหาโซเชียลที่รัฐไม่า่มารถคุมได้ จนกลายเป็นว่ารัฐผลักให้คนไปดูเรื่องที่ไม่ควรรู้

ขณะที่สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดประกวด สโลแกน วัน "เสรีภาพสื่อมวลชนโลก" ปี 2560 โดยยึดเหตุการณ์ที่เครือข่ายรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เตรียมผลักดันร่างกฎหมายที่ใช้ควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

สโลแกนที่ชนะการประกวดและใช้เป็น สโลแกน วัน "เสรีภาพสื่อมวลชนโลก" ใน ปี 2560 คือ "หยุดตีทะเบียนสื่อ หยุดครอบงำสื่อมวลชน"

ขณะที่ นายปราเมศ เหล็กเพชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรียกร้องให้สื่อมวลชนภาคสนามแสดงพลังต่อต้านร่างกฎหมายควบคุมสื่อ เพราะจะไม่สามารถทำให้การตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง โครงการต่างๆของรัฐบาลได้ ถือเป็นการปิดปากสื่อมวลชนอย่างเบ็ดเสร็จ

อีกทั้งการให้ "ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน" ต้องมีใบอนุญาต และ สามารถถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้จากกลุ่มบุคคลที่มีตัวแทนจากภาครัฐ จึงถือเป็นการเปิดทางให้มีการแทรกแซงและควบคุมการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนอย่างชัดเจน

สปท.ยันเสนอกฎหมายคุมสื่อฯเข้าสภา มองอาชีพนักข่าวสร้างผลกระทบ