"สมศักดิ์" โชว์ ดูแลผู้ต้องขังดีเยี่ยม เล็งเดินหน้าตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ 4 ภาค หางานให้ผู้ต้องขัง 2 หมื่นคน หวังลดการกลับไปทำผิดซ้ำ ชี้ เปิดโอกาสนักโทษหารายได้เฉลี่ย 8,000 บาท ดูแลตัวเอง-ครอบครัว เผย ช่วยรัฐประหยัดงบสร้างเรือนจำได้ถึง 11,200 ล้านบาท ลดค่าดูแล 440 ล้านบาทต่อปี

วันที่ 29 ม.ค.66  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ว่า กรมราชทัณฑ์ ได้รายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ในระยะที่ 2 หลังในระยะแรกได้ผลักดันจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร ที่จังหวัดสมุทรสาคร เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ผู้ต้องขังมีงานทำ และมีอาชีพหลังพ้นโทษ ทำให้มีการศึกษาแนวทางจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เพื่อรองรับผู้ต้องขัง 4 ภาค โดยภาคเหนือ กำหนดไว้ที่จังหวัดลำพูน ภาคอีสาน จังหวัดนครราชสีมา และภาคใต้ จังหวัดสงขลา

 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ผลการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเรื่องนี้ พบว่า เป็นโครงการที่คุ้มค่าการลงทุนในระยะยาว เพราะไม่เป็นภาระภาครัฐ และไม่ก่อหนี้ให้เกิดผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของรัฐ เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ 1 แห่ง จะสามารถรองรับแรงงานได้ถึง 1 หมื่นคน แต่จะใช้รองรับแรงงานผู้ต้องขังแห่งละ 5,000 คน ที่เหลือให้เกิดการจ้างงานคนในพื้นที่ ซึ่งหากทำ 4 ภาค ก็จะรองรับแรงงานผู้ต้องขังได้ถึง 20,000 คน จะช่วยทำให้รัฐบาล ไม่ต้องเสียงบประมาณในการสร้างเรือนจำเพิ่ม เพราะเรือนจำ 1 แห่ง จะรองรับผู้ต้องขังได้ 2-3 พันคน โดยใช้งบประมาณสร้างแห่งละ 1,600 ล้านบาท ดังนั้น นิคมอุสาหกรรมราชทัณฑ์ จำนวน 4 แห่ง ก็จะช่วยให้ไม่ต้องสร้างเรือนจำเพิ่มถึง 7 แห่ง ประหยัดงบประมาณได้ถึง 11,200 ล้านบาท

 

“นอกจากไม่ต้องเสียเงินสร้างเรือนจำเพิ่มแล้ว ยังสามารถประหยัดงบประมาณ ในการดูแลผู้ต้องขังได้อีกด้วย ทั้งค่าอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ของใช้จำเป็น สบู่ ยาสีฟัน ผ้าอนามัย เฉลี่ยคนละ 22,000 บาทต่อปี ซึ่งถ้าออกไปทำงาน 2 หมื่นคน ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 440 ล้านบาทต่อปี รวมถึงในนิคมอุตสาหกรรมฯ จะทำให้ผู้ต้องขัง ที่ได้รับการพักโทษ สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ เนื่องจากจะมีรายได้เฉลี่ยคนละ 8,000 บาทต่อเดือน ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ มักจะเจอปัญหาผู้พ้นโทษ กลับมากระทำผิดซ้ำในรอบ 3 ปี เฉลี่ยถึง 35% เพราะสาเหตุหลักไม่มีอาชีพ ดังนั้น โครงการนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการดูแลผู้ต้องขัง จนสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างแข็งแรง มีอาชีพเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ซึ่งจะช่วยลดการกลับเข้าวงจรทำผิดแบบเดิมๆได้ เพราะจากการเปิดให้ผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษ ได้ทดลองทำงานจำนวน 482 คน พบมีผู้ผิดเงื่อนไขเพียง 36 ราย ซึ่งถือว่า เป็นตัวเลขที่น้อยลง เมื่อผู้ต้องขังมีงานทำเป็นหลักแหล่ง” รมว.ยุติธรรม กล่าว