"ฝ่ายค้าน" อ่านแถลงการณ์ จี้ "ประยุทธ์" ลาออก ชี้มีเจตนาสืบทอดอำนาจ ตั้งข้อสังเกตคำวินิจฉัยทำลายกติกาสูงสุดประเทศ ขณะ "หมอชลน่าน" มั่นใจฝ่ายค้านยังยิ้มได้ เตรียมใช้กลไกสภายื่นอภิปรายทั่วไปสมัยหน้า

 

วันที่ 30 ก.ย. 65 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นัดฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

พรรคร่วมฝ่ายค้านยอมรับคำวินิจฉัยของศาล และขอแถลงการณ์ พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นพ้องต้องกันว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีความคลาดเคลื่อนในข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผล ดังนี้

1. การพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น นอกจากจะต้องหาความหมายจากถ้อยคำตามลายลักษณ์อักษรแล้ว ต้องพิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย โดยต้องพิจารณาในขณะเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่าได้มีการพิจารณาถึงสาระสำคัญหรือเหตุผลเบื้องหลังของแต่ละมาตราไว้อย่างไร เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามความเห็นของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนแปลงไปตามความคิดและความรู้สึกของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละช่วงเวลาได้

2. การวินิจฉัยให้เริ่มนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีผลใช้บังคับนั้น จะทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังครบวาระในครั้งนี้แล้วอีก 2 ปี จนถึงปี 2568 นั้น น่าจะเป็นการตีความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญตามที่ประชาชนเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว เพราะจะส่งผลให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถดำรงตำแหน่งได้ ซึ่งเกินกว่า 4 ปี และเกินกว่า 2 วาระ ปกติของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันผิดไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 และรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าที่ต้องการจำกัดวาระและระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมิให้เกิน 2 วาระ หรือเกินกว่า 8 ปี และยังขัดต่อการรับรู้ทั่วไปของประชาชนและขัดต่อข้อเท็จจริงว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งการตีความในลักษณะนี้ จะมีผลแปลกประหลาดคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ระยะเวลา 8 ปี ก่อนวันที่ 6 เมษายน 2560 กลับไม่นำมานับแต่หลังจาก วันที่ 6 เมษายน 2560 กลับนำมานับ ทั้ง ๆ ที่มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีฉบับเดียวกัน

ในชั้นเริ่มต้นของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี พ.ศ. 2557 แม้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่ได้เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 158 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ตาม แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ได้บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้ให้ความเห็นชอบให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีนี้จึงถือว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมเป็นนายกรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264

3. เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกอ้างความชอบธรรมจากผู้มีอำนาจบ่อยครั้งว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงและผ่านการลงประชามติของประชาชน การตีความให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อยู่ในตำแหน่งเป็น 8 ปีได้ นอกจากขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้วยังขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยด้วย อันถือเป็นการทำลายรากฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญเพราะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการผูกขาดการใช้อำนาจ

4. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญแต่การวินิจฉัยที่ส่อว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเสียเอง ย่อมเป็นการทำลายคุณค่าความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แม้ผลคำวินิจฉัยจะทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ประโยชน์ แต่ก็จะเป็นการทำลายบรรทัดฐานทางกฎหมาย และอาจนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งที่ใหญ่หลวงในสังคมและเกิด
การไม่ยอมรับในผลของคำวินิจฉัยได้

5. พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมีการปฏิรูปกระบวนการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเสียใหม่ ให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่เหมาะสม เพื่อมิให้มีการอาศัยผลของคำวินิจฉัยที่ผูกพันทุกองค์กร ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมและไม่คำนึงถึงบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ถูกต้องได้ พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าแม้ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคงมิใช่เป็นการฟอกขาวให้แก่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยประการใด ๆ

พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าภาพจำของประชาชนที่มีต่อตัวนายกรัฐมนตรีคือ ผู้ที่พยายามจะสืบทอดอำนาจทุกวิถีทางเท่าที่จะหาวิธีทำให้ได้ ผู้ที่ผิดสัญญากับประชาชนมาตั้งแต่ต้นที่ทำรัฐประหารว่าจะอยู่ไม่นาน

โดยแนวทางหลังจากนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีบทบาทมุ่งทำหน้าที่ที่เหลืออยู่ของสภาให้ดีที่สุด ส่วนการให้ข้อเสนอแนะหรือข้อท้วงติงต่าง ๆ ฝ่ายค้านมีวาระในการประชุมร่วมกันอยู่แล้วทุกสัปดาห์ ก็จะนำประเด็นต่าง ๆ มาปรึกษาหารือและเสนอไปยังรัฐบาล โดยใช้กลไกของฝ่ายค้าน ที่สำคัญช่วงนี้ฝ่ายค้านมีการหารือกันว่าจะขอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป แบบไม่ลงมติ เป็นการเสนอปัญหาและข้อเท็จจริงต่อคณะรัฐมนตรีในช่วงเปิดสมัยประชุม

ด้านนายแพทย์ชลน่าน ยังประเมินว่า สถานการณ์หลังจากนี้ว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากสิ่งที่พรรคร่วมฝ่ายค้านให้เหตุผลในคำร้องต่อการสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของพลเอกประยุทธ์ เป็นเพราะคิดว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ เปรียบเสมือนพายุโนรูเข้าประเทศไทยที่ไม่มีทางออก "พายุไม่มี Rule ก็คือโนรูเข้า แต่ประเทศเราไร้ทางออกนะครับ No Rule เช่นกันครับ R-U-L-E ซึ่งตรงนี้เองก็จะเป็นสิ่งที่เรามีข้อห่วงใยและข้อกังวลมากนะครับ เท่าที่ฟังเสียงส่วนใหญ่พี่น้องประชาชนมีข้อวินิจฉัยส่วนตัวกันไว้หมดแล้ว ว่าออกแนวนี้ เขาจะมีข้อเรียกร้อง ข้อเสนออย่างไร อยากให้ฝ่ายบริหาร พลเอกประยุทธ์รับฟังข้อเรียกร้องของพี่น้องประชาชน ภายใต้การดูแลความสงบเรียบร้อย ที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน"

นายแพทย์ชลน่าน ย้ำทิ้งท้ายว่า จะต้องไม่สร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงหรือความขัดแย้งในสังคม