เลขาฯ กกต. แจงกฎเหล็ก 180 วันก่อนเลือกตั้ง ชี้ร่วมงานแต่ง-งานศพได้ แต่ใส่ซองไม่ได้ ห้ามแจกของช่วยท่วม ป้ายต้อนรับ-ขอบคุณพรรคการเมืองไม่ได้ ย้ำข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่มั่นใจให้ถามส่วนกลาง

วันที่ 27 ก.ย.65 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ร่วมประชุมกับผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (ผอ.กกต.จว.) ทั่วประเทศ ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อชี้แจงให้ กกต. จังหวัดแต่ละจังหวัด ได้รับทราบแนวทางปฏิบัติ และชี้แจงพรรคการเมืองให้เป็นแนวทางเดียวกันเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การหาเสียงช่วง 180 วัน ก่อนสภาครบวาระในวันที่ 23 มี.ค. 66

โดยมีการชี้แจง เป็นกลุ่มใหญ่ 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 พรรคการเมืองและผู้สมัคร 

1. ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองสามารถไปร่วมงานประเพณีต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพและมอบพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ต้องไม่มีการให้เงิน ทรัพย์สินต่าง ๆ ยกเว้น กรณีที่ฝ่ายเจ้าภาพได้จัดเตรียมสิ่งของตามพิธีการไว้ให้มอบในงานด้วย เช่น ผ้าบังสุกุลและปัจจัย แต่ไม่ใช่เงินของพรรคการเมือง หรือผู้สมัคร หรือการระบุชื่อไว้เป็นประธานในงานกฐิน โดยผู้สมัครหรือพรรคการเมืองไม่ได้มอบเงินหรือทรัพย์สินของตนเอง สามารถกระทำได้ แต่ทั้งนี้เจ้าภาพจะประกาศชื่อ หมายเลขสมัคร ของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองในลักษณะที่ช่วยหาเสียงเลือกตั้งไม่ได้

2. ผู้สมัครที่มีความจำเป็นต้องจัดพิธีงานต่าง ๆ ในช่วง 180 วัน สามารถจัดงานได้เท่าที่จำเป็น เช่น งานศพ งานบวช งานแต่งงาน แต่ให้หลีกเลี่ยงการจัดงานที่มีลักษณะขนาดใหญ่ มีผู้เข้าร่วมมาก เพราะอาจเป็นเหตุให้มีการร้องคัดค้านว่าเป็นการจัดเลี้ยง จัดมหรสพ ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งได้

3. หัวหน้าพรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมือง สส. ของพรรคการเมือง สามารถลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้สมัครในการหาเสียงเลือกตั้งได้ แต่ห้ามไม่ให้จัดหรือนำคนไปช่วยหาเสียง โดยได้รับค่าตอบแทน หรือสิ่งตอบแทน เช่น การจ้างให้เข้าร่วมรับฟัง โดยไม่ได้เป็นผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง

4. ผู้สมัครและพรรคสามารถเข้าไปหาเสียงในโรงเรียน หรือสถานที่ราชการได้ แต่ต้องขออนุญาตเจ้าของสถานที่ก่อนดำเนินการหาเสียง

5. ผู้สมัครและพรรคการเมืองไม่สามารถมอบของช่วยเหลือแก่ประชาชนในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การมอบสิ่งชองช่วยเหลืออุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย และโรคระบาด หรือในเหตุที่เกิดขึ้นลักษณะเดียวกัน

6. ผู้สมัครและพรรคการเมืองสามารถติดประกาศแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยมีวิธีการ ขนาด จำนวนและสถานที่ติดตามที่กำหนดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด สำหรับแผ่นป้ายที่ติดไว้ก่อนแล้ว จะต้องมีการแก้ไขให้มีขนาดและติดในสถานที่ตามที่กำหนดไว้

7. ในการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครและพรรคการเมือง ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2561 และระเบียบ กกต. ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการเสียงเลือกตั้ง สส. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 3 ฉบับ อย่างเคร่งครัด

สำหรับกลุ่มที่ 2 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ รัฐบาล นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมืองอื่น ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ ที่พึงต้องปฏิบัติในตำแหน่งนั้น เช่น การออกรายการวิทยุโทรทัศน์ เป็นประธานเปิดงานในพิธีต่าง ๆ การลงตรวจงานในพื้นที่ การพบปะประชาชนในพื้นที่ หรือการลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน แต่ห้ามไม่ให้มีการกระทำการใด ๆ ที่เป็นการอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในการกระทำการหาเสียงในแก่ตนเอง หรือผู้อื่น หรือพรรคการเมือง ทั้งนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถไปร่วมประเพณีต่างๆ เช่น งานบวช งานแต่งงาน งานศพ วางพวงหรีดดอกไม้ได้ แต่ต้องไม่มีการให้เงิน ทรัพย์สินใด ๆ กรณีเจ้าภาพได้จัดเตรียมสิ่งของตามพิธีการไว้ให้มอบในงาน เช่น ผ้าบังสุกุล หรือระบุชื่อไว้เป็นประธานในงานกฐิน โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้มอบเงินหรือทรัพย์สินของตนเอง สามารถกระทำได้ ทั้งนี้ เจ้าภาพจะประกาศชื่อ ในลักษณะช่วยเหลือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือพรรคการเมืองนั้นเพื่อหาเสียงไม่ได้ อย่างไรก็ตามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถหาเสียงเลือกตั้งนอกเวลาราชการให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองได้ แต่ต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบกระทำการใด ๆ เพื่อเป็นคุณหรือโทษแก่พรรคการเมือง ผู้สมัครใด ส่วน สส.และกรรมาธิการ มีวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกับข้าราชการการเมือง โดยไปทำหน้าที่ของตนเองได้ ไปรับฟังความเห็นในพื้นที่ พบประชาชน ก็เป็นการหาเสียงอย่างหนึ่งซึ่งไม่ขัดกฎหมายแต่อย่างใด

ส่วนกลุ่มที่ 3 หน่วยงานของรัฐ สรุปคือ สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ตามปกติ เช่น การจัดประชุมสัมมนา การจัดกิจกรรมประกวด แข่งขันต่าง ๆ การจัดงานเทศกาลตามประเพณี และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติ ครม. ลงวันที่ 1 ก.พ. 62 ที่ให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างในสังกัดราชการส่วนกลาง และภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้ความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินการเลือกตั้ง สส. ให้ข้าราชการ พนักงาน ทุกระดับทั้งในส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น วางตัวเป็นกลางทางการเมือง นับแต่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง สส. จนถึงวันเลือกตั้ง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พนักงานให้กระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้กระทบกับการเลือกตั้ง ให้ราชการส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่นให้การสนับสนุนสถานที่ เพื่อให้เป็นสถานที่จัดการเลือกตั้ง รวมถึงสนับสนุนเป็นสถานที่ติดประกาศ และแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ให้มีการสนธิกำลังระหว่างทหาร ตำรวจ พลเรือน และอาสาสมัคร ด้านความปลอดภัยเพื่อการคุ้มครองประชาชนและเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้รับความปลอดภัย ซึ่งหลักสำคัญคือข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง