ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา ยอมรับ คลิปชันสูตรศพแตงโม เป็นคลิปขณะเปรียบเทียบแผลกับใบพัดเรือ ส่วนยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) ไม่มีผลกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ แต่หากใช้ปริมาณมาก ส่งผลให้ง่วงได้

 

วันที่ 10 พ.ค.2565 - พลตำรวจตรีสุพิไชย ลิ่มศิวะวงศ์ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ยอมรับ คลิปวีดีโอ ที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำไปเผยแพร่ อ้างว่า เป็นภาพการนำศพของนางสาวภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม มาเปรียบเทียบกับใบพัดเรือ เป็นเหตุการณ์จริง ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ขณะที่ ทีมแพทย์นิติเวช นำร่างของแตงโม จากห้องเย็นไปผ่าพิสูจน์ ตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอให้มีการเปรียบเทียบร่องรอยบาดแผลของศพกับใบพัดเรือของกลางว่าเข้ากันได้หรือไม่ โดยใช้สถานที่ 1 ใน 3 ห้องผ่าศพ ที่อยู่ในบริเวณสถาบันนิติเวชซึ่งห้องดังกล่าวเป็นห้องสำรองไว้สำหรับฉีดยาซึ่งบุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปได้ และมีการดำเนินการในวันเวลาราชการ

ซึ่งขณะผ่าชันสูตร มีการบันทึกทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ จากทีมชันสูตร 4 คน ประกอบด้วย แพทย์เจ้าของคดี 1 คน ผู้ช่วยแพทย์ 1 คน และ ช่างภาพ 2 คน ไว้เป็นหลักฐานประกอบสำนวนคดี

สำหรับขั้นตอน ตั้งแต่สถาบันนิติเวชฯ รับศพแตงโม วันที่ 26 กุมภาพันธ์ มีการแกะห่อศพแล้วบันทึกภาพไปกว่า 200 ภาพ โดยพบว่าบนร่างของแตงโมมีบาดแผล 26 บาดแผลก่อนนำไปผ่าชันสูตรอีกครั้ง ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม พบว่ามีบาดแผลเพียง 22 บาดแผล ซึ่งคาดเคลื่อนดังกล่าวเป็นที่ยอมรับได้ในทางการแพทย์เพราะระยะเวลาผ่าชันสูตรห่างกันถึง 19 วัน

ส่วนกรณีที่มีการนำคลิปไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนยืนยันว่า ข้อมูลดังกล่าว ไม่ได้มีการปกปิดเพราะเป็นข้อมูลที่นำไปใช้ประกอบสำนวนคดีแต่ยืนยันว่า ไม่ได้ออกจากสถาบันนิติเวชฯ โดยข้อมูลนี้ จะส่งต่อให้เฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการรับผิดชอบสำนวนคดีเท่านั้น ส่วนจะเข้าข่ายความผิดหรือไม่ ต้องดูที่เจตนา แต่ขณะนี้ ยอมรับว่า เกิดความเสียหายกับองค์กร ซึ่งหากพบว่า เป็นการดิสเครดิตเจ้าหน้าที่ก็ต้องพิจารณาข้อกฎหมายอีกครั้ง แต่ยอมรับว่าเสียกำลังใจ เพราะทุกคนทำงานตามมาตรฐาน และไม่ได้ปกปิดข้อมูล โดยที่ผ่านมา องค์กรไม่มีความขัดแย้ง โดยมีแนวทางและเจตนาเดียวกัน ที่จะทำให้คดีคลี่คลาย

ส่วนกรณีพบสารอัลปราโซแลม หนึ่งในพยานเพศชาย ที่อยู่บนเรือกับแตงโมยืนยันว่า ยากลุ่มดังกล่าว มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทโดยมีฤทธิ์คลายกังวล หรือคลายเครียด ใช้ในการรักษา โรคเครียด ลมชัก นอนไม่หลับ ไม่มีคุณสมบัติกระตุ้นทางเพศ แต่หากใช้ในปริมาณมาก อาจทำให้ผู้ใช้ง่วงนอน ส่วนที่เรียกว่า ยาเสียสาว เชื่อว่า เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด