ทวิตเตอร์ใช้มาตรการ "ยาพิษ" เพื่อสกัดอีลอน มัสก์ ซื้อหุ้นครอบครองกิจการ

 

วันที่ 16 เมษายน 2565 สำนักข่าวฟ็อกซ์รายงานว่า คณะกรรมการบริหารหรือบอร์ดของทวิตเตอร์ ได้ตอบโต้ 'อีลอน มัสก์' มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก กรณีเสนอขอซื้อบริษัททวิตเตอร์ทั้งบริษัท ด้วยการกำหนดสิทธิผู้ถือหุ้นแบบจำกัดระยะเวลาที่เรียกว่า "ยาพิษ" (poison pill) ที่อาจจะทำให้อีลอน มัสก์ เข้าครอบครองกิจการได้ยากขึ้น

ทั้งนี้ การประกาศใช้ "พอยเซิ่น พิลล์" (poison pill) ถูกประกาศเมื่อวันศุกร์ เพื่อสงวนสิทธิ์ในการซื้อหุ้นของผู้ถือหุ้นทวิตเตอร์ หลังจากมีรายงานว่า อีลอน มัสก์ ที่เพิ่งซื้อหุ้นไปราว 9% พร้อมกับเสนอเงิน 41,000 ล้านดอลลาร์ เสนอขอซื้อหุ้นทั้งหมด 100% เพื่อฮุบกิจการทวิตเตอร์เป็นของตนเอง เพื่อบริหารตามแนวทางที่เคารพหลัก "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" แต่ทางทวิตเตอร์มองว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่เป็นมิตร และประกาศใช้พอยเซิ่น พิลล์ (poison pill) เพื่อป้องกันไม่ให้มัสก์หรือผู้ถือหุ้นคนอื่นครอบครองหุ้นเกิน 15%

พอยเซิ่น พิลล์ เป็นกลไกป้องกันการเข้ายึดครอง และทำให้มัสก์ซื้อหุ้นเพิ่มได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นเทคนิคออกหุ้นใหม่ปริมาณมหาศาลสู่ตลาด เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ที่ต้องการยึดกิจการให้ต้องใช้เงินตามเก็บหุ้นจากรายย่อยมากขึ้น ทั้งเสียเวลาและไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนเป็นอย่างมาก

หลังจากมีข่าวว่าคณะกรรมการบริหารไม่สนใจเรื่องการเทคโอเวอร์ ทำให้ 'อีลอน มัสก์' โพสต์ถามในทวิตเตอร์ว่า "การตกลงซื้อขายหุ้นควรขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้น ไม่ใช่คณะกรรมการบริหารใช่หรือไม่" ปรากฎว่ามีชาวทวิตเตอร์เข้าไปโหวตว่า "ใช่" เกิน 80%