อนุทิน เปิดมหกรรมกัญชา เขตสุขภาพที่ 10 สุดคึกคัก ขับเคลื่อนงานกัญชาทางการแพทย์ สร้างจุดเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวกัญชาทั่วเขตสุขภาพ ยืนยัน วันที่ 9 มิ.ย. ประชาชนจดแจ้ง ปลูกกัญชาในครัวเรือน กี่ต้นก็ได้ 



9 เมษายน 2565 ที่ อาคารสถาบันภาษา ศิลปะ และวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 10 โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ เอกชน อสม.และประชาชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก

นายอนุทิน กล่าวว่า “นโยบายกัญชาทางการแพทย์” เป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง และเมื่อได้รับเลือกตั้งและเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข ทุกกรม รวมทั้งเครือข่าย ร่วมกันผลักดัน และขับเคลื่อนนโยบายตลอดระยะเวลา 3 ปี ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นขั้นเป็นตอนในการทำให้กัญชา กลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีความโดดเด่น โดยเริ่มก้าวแรกจากการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ การทำให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน และความสำเร็จ ล่าสุด คือ มีการแก้ไขกฎหมายทำให้กัญชา หลุดจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ เป้าหมายแรกที่ประสบความสำเร็จ คือ การใช้ประโยชน์ จากกัญชาทางการแพทย์ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมวิชาการด้านการวิจัยและรักษา ทั้งกรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมสุขภาพจิต ร่วมกันศึกษาวิจัย กำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ จัดอบรม และจัดสอบขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญ ทำให้วันนี้มีผู้ป่วยได้รับยากัญชามากถึง 100,000 ราย และ เป้าหมายที่สอง คือ การผลักดันให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน โดยต้องขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการปรับเปลี่ยนข้อกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการปลูกและต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ ได้ง่ายขึ้น มีการจัดทำแนวทางการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง อำนวยความสะดวก ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการดำเนินการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์

จากการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ในหลายเขตสุขภาพที่ผ่านมาพบว่ามีการพัฒนาในทิศทางที่ดีเป็นอย่างมาก นอกจากเป็นยารักษายังต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำหรับเขตสุขภาพที่ 10 "มุกศรีโสธรเจริญราชธานี" มีจุดเด่น คือ มีนโยบายพัฒนาด้านเศรษฐกิจสุขภาพ นำกัญชากับสถานที่ท่องเที่ยวมาเป็นจุดขาย โดยจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเชื่อมต่อสถานที่ปลูก ผลิตกัญชา กัญชง กับสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของแต่ละจังหวัด เช่น วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว กับ ด่านช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี, ไร่กัญชามาทวีฟาร์ม กับ ผามออีแดง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ, ออร์แกนิก คาเฟ่ กาแฟสายสุขภาพ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร, ศูนย์แพทย์แผนไทยและแหล่งปลูกกัญชา กับ พระเหลาเทพนิมิต อ.พนา จ.อำนาจเจริญ และโรงงานสมุนไพร กับ ทุ่งกังหันลม อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร เป็นต้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน และในจังหวัดได้อย่างมาก

ทั้งนี้ นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ตนได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นการปลดล็อกกัญชาจากการเป็นยาเสพติด ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน เน้นย้ำว่า กัญชา กัญชง มีประโยชน์มาก สามารถนำมาใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยได้ เรากำลังเดินหน้าให้คนไทย สามารถปลูกกัญชาเพื่อใช้รักษาโรคได้เช่นเดียวกับพืชสมุนไพรตัวอื่น แต่จะต้องมีกระบวนการ ควบคุมที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา เพื่อให้มีกฎหมายมาควบคุมเฉพาะ หลังจาก 120 วันที่กัญชาจะพ้นจากการเป็นยาเสพติด ประชาชนที่ต้องการปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือน ไม่ต้องขออนุญาต แต่เปลี่ยนเป็นมาจดแจ้งให้รัฐทราบ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนด ของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เมื่อเราได้ทำตามความประสงค์ของประชาชน คือ เอาต้นกัญชา ออกจากยาเสพติดแล้ว ขอให้ใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกต้อง และช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้ เพื่อนร่วมสังคมนำไปใช้ในทางที่ผิด

นอกจากนี้ นายอนุทิน ยืนยันว่า วันที่ 9 มิถุนายน 65 ประชาชนจดแจ้ง ปลูกกี่ต้นก็ได้ ซึ่งมากกว่าที่เคยรับปากไว้ 6 ต้น

สำหรับบรรยากาศภายในงานออกบูธ นายอนุทิน ได้กราบนมัสการเจ้าอาวาส และเยี่ยมชมบูธ วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว จ.อุบลฯ ที่ได้นำผลิตภัณฑ์สบู่ ยาหม่อง ยานวด ที่ชาวบ้านร่วมกันผลิต ซึ่งถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอีกทางหนึ่ง ต่อจากนั้นได้เดินชมกิจกรรมโดยให้ความสนใจเยี่ยมชมบูธกลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชสมุนไพรและผลไม้ (ซาลาเปาคุณยายกัญ) อ.พิบูลย์มังสาหาร จ.อุบลราชธานี นำใบกัญชามาบดละเอียดเป็นส่วนผสมของซาลาเปา และหม่านโถ สังขยา, บูธวิสาหกิจชุมชนดอนเมืองเศรษฐกิจใหม่ นำผลิตภัณฑ์ครีมกัญชานาโน ผิวชุ่มชื้น ลบริ้วรอยเหี่ยวย่น และที่ลานสาธิต นายอนุทิน เข้าร่วมทำกิจกรรม ส้มตำปลาร้ากัญ โดยนำวัตถุดิบเด่นมีชื่อเสียงในแต่ละจังหวัด ในเขตสุขภาพที่ 10 มาเป็นส่วนผสมส้มตำน้ำปลาร้ากัญชา และเครื่องเคียงเช่นหมูยอกัญชา พร้อมเยี่ยมชม คลินิกกัญชาทางการแพทย์ แผนไทย และแพทย์แผนปัจจุบันด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเขตสุขภาพที่ 10 ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ จ.มุกดาหาร จ.ศรีสะเกษ จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุบลราชธานี มีโรงพยาบาลภาครัฐและคลินิกกัญชาทางการแพทย์ภาคเอกชน เปิดให้บริการรวม 68 แห่ง ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยยากัญชาได้อย่างปลอดภัย โดยตั้งแต่ตุลาคม ถึงธันวาคม ปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลภาครัฐในเขตสุขภาพฯ ให้การรักษาผู้ป่วยด้วยยากัญชารวม 4,537 ราย เป็นแผนไทย 4,202 ราย และแผนปัจจุบัน 335 ราย ปัจจุบันได้ส่งเสริมให้มีการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้นโดยมีวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับอนุญาตปลูกกัญชาแล้ว 11 แห่ง อยู่ระหว่างการขออนุญาต 19 แห่ง และแสดงเจตจำนงขอปลูกอีก 17 แห่ง มีสถานที่ผลิตตำรับยากัญชาที่ได้รับอนุญาต 2 แห่ง เป็นภาครัฐ 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลพนา จ.อำนาจเจริญ และภาคเอกชน 1 แห่ง คือ วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว จ.อุบลราชธานี